ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์เจอทางตัน ? เดิมพันแห่งศักดิ์ศรี จีนลุยเจรจายุโรป-อาเซียน

เศรษฐกิจ
12 เม.ย. 68
18:54
8
Logo Thai PBS
ทรัมป์เจอทางตัน ? เดิมพันแห่งศักดิ์ศรี จีนลุยเจรจายุโรป-อาเซียน
2 มหาอำนาจโลกเปิดศึกทางการค้าแบบแลกหมัดต่อหมัด มาตรการตอบโต้ของจีนอย่างการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 125% เริ่มขึ้นแล้ววันนี้ เรียกว่า เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ที่ไม่มีชาติไหนกล้าทำแบบนี้

หลังจากปัจจัยความผันผวนรุนแรงในตลาดหุ้นและการเทขายพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องยอมถอยก่อนเป็นคนแรกในศึกกำแพงภาษีโลก ทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายประกาศสงครามเอง แต่สมรภูมิเดือดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบนี้ กำลังสร้างความกังวลให้นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยว่า 2 มหาอำนาจโลกจะหันมาคุยกันได้จริง ๆ ใช่หรือไม่

ตอนนี้ แทบจะกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว สำหรับผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมาให้ข่าวเรื่องกำแพงภาษีกับสื่อบน Air Force One ระหว่างเดินทาง แทนที่จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวตามปกติ และคำตอบเมื่อทรัมป์ถูกนักข่าวถามว่า อยากนั่งโต๊ะเจรจากับจีนไหม และรู้สึกโอเคหรือไม่กับกำแพงภาษีในตอนนี้

ไม่เคยรู้สึกไม่สบายใจ ผมมักจะเข้ากับ ปธน.สี ได้ดี พวกเรามีความสัมพันธ์อันดี ดีมาก ๆ คิดว่าอะไรดี ๆ กำลังจะเกิดขึ้น

โฆษกทำเนียบขาวพยายามออกมาให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.2568) หลังจากจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 125 โดยโฆษกย้ำว่า ผู้นำสหรัฐฯ มีจุดยืนเปิดกว้างและเชื่อว่าจะบรรลุข้อตกลงกับจีนได้ แต่ถ้าจีนยังคงเดินหน้าตอบโต้สหรัฐฯ นั่นจะไม่เป็นผลดีกับจีนเลย

หันมาดูท่าทีในฝั่งจีน เมื่อวานนี้ สี จิ้นผิง ปธน.จีน ออกมาประกาศกร้าวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มเปิดศึกการค้ากับสหรัฐฯ ว่า จีนไม่เกรงกลัวการกดขี่ใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา จีนพัฒนาประเทศด้วยการพึ่งพิงตนเองและความขยันขันแข็ง ไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือจากใคร นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังชวนสหภาพยุโรปมาร่วมต่อต้านการข่มเหงรังแกผู้อื่นแต่เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ด้วย แต่ยุโรปแข็งแกร่งพอหรือไม่ และจะขานรับคำชวนนี้หรือไม่

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ชี้ว่า แม้สหรัฐฯ และจีน จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก แต่บทบาทของสหภาพยุโรปก็มองข้ามไปไม่ได้ โดย 27 ประเทศสมาชิก EU มีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 448 ล้านคน กับ GDP รวมมากกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น มองแค่ตัวเลขนี้ ถ้าจีนสามารถจับมือกับยุโรปได้อย่างมั่นคง การรับมือกับสหรัฐฯ อาจไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ความร่วมมือดังกล่าวอาจไม่ง่ายแบบนั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติกแข็งแกร่งและครอบคลุมผลประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจการค้า การเมืองความมั่นคงไปจนถึงเรื่องทางสังคม และแม้กำแพงภาษีกับประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจบั่นทอนความสัมพันธ์นี้ลงไปบ้าง แต่ยุโรปก็ยังไม่สามารถขาดกับสหรัฐฯ ได้ และไม่น่าจะทำแบบนั้นด้วย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีนเองก็ไม่ได้ราบรื่นมั่นคง

มองมุมหนึ่ง การออกมาให้ความเห็นเป็นครั้งแรกของผู้นำจีนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ในห้วงเวลาที่ เปโดร ซานเชซ นายกฯ สเปน เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งพอดิบพอดี อาจจะส่งสัญญาณว่า จีนกำลังพยายามพลิกวิกฤตจากสงครามการค้า ให้กลายเป็นโอกาสหรือไม่ โดยเฉพาะการกระชับความร่วมมือกับยุโรป และโจมตีสหรัฐฯ ของทรัมป์ ที่มีธงนำเป็น America First หรือ อเมริกาต้องมาก่อน

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ยอมเลื่อนการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากถูกจีนและนานาชาติกดดัน แต่การตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นเพียงเรื่องเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่มักจะใช้วิธีบีบบังคับทางการค้า เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง

ข้อมูลจาก Eurostat ชี้ว่า สหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศคู่ค้าใกล้ชิดของสหภาพยุโรป โดยเมื่อปีที่แล้ว EU ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยอังกฤษ และจีนที่ร้อยละ 8.3 ขณะที่ EU นำเข้าสินค้าจากจีนสูงที่สุด มูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านยูโร ซึ่งทำให้ EU ขาดดุลการค้ากับจีนสูงกว่า 300,000 ล้านยูโรด้วยกัน

โดยถ้าแยกการค้าเป็นรายประเทศ จะพบว่า มีสมาชิก EU เพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่มีการค้าเกินดุลกับจีน นั่นคือ ไอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก ส่วนที่เหลืออีก 25 ประเทศ จีนเกินดุลทั้งสิ้น ตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยล้านยูโรจนถึงสูงสุดกว่า 85,000 ล้านยูโร สำหรับเนเธอร์แลนด์

จีนและยุโรปถือเป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและยานยนต์ ดังนั้น กำแพงภาษีสหรัฐฯ อาจเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้มานั่งโต๊ะเจรจาทางการค้า เพื่อพบกันครึ่งทาง เช่น การลดกำแพงภาษีระหว่างกัน หรืออาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้สองฝ่ายปะทะกันรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้

ขณะที่ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนก็เป็นอีกประเด็นหลักที่อาจจะกลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ได้ ดังนั้น การร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรปจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จีนจะไม่พยายามเข้าหายุโรป

นับตั้งแต่ต้นปี จีนส่ง หวัง อี้ นักการทูตเบอร์ 1 เดินสายทัวร์ยุโรป ก่อนที่นายกฯ หลี่ เฉียง จะต่อสายคุยกับผู้นำ EU ตอนทรัมป์เก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก มาจนถึงผู้นำสเปนเยือนจีนเมื่อ 11 เม.ย. และผู้นำจีนเตรียมเปิดบ้านต้อนรับผู้นำ EU ในการประชุมสุดยอดที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย

ไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้น เพราะผู้นำจีนเตรียมเดินสายเยือนเวียดนาม มาเลเซียและกัมพูชาตลอดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ด้วย โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งกำลังพยายามหาทางรอดจากมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ น่าจับตาดูว่า การเปิดศึกทำสงครามการค้ากับจีน จะให้ผลลัพธ์ตามที่ทรัมป์หวังเอาไว้หรือไม่

อ่านข่าวอื่น :

เริ่ม "มหาสงกรานต์สนามหลวง" ไฮไลท์ขบวนพาเหรดโชว์ Soft Power

สงกรานต์ 2568 กรมรางสั่งลุย! รถไฟฟ้า-รถไฟวิ่งฉลุย 1.49 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง