ความคืบหน้ากรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ "พญาเสือ" นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ "หัวหินทีค" สวนสัตว์ขนาดเล็กบนพื้นที่ราว 45 ไร่ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบช้างสีดอชื่อ "พลายเกาะพยาเพ็ชร" และ "พลายทีจี" มีตั๋วรูปพรรณไม่ถูกต้อง จึงได้ทำการอายัดไว้เพื่อตรวจสอบและจะขนย้ายในภายหลัง
แต่หลังมีคำสั่งอายัด ช้างทั้งสองเชือกนี้กลับถูกย้ายจากหัวหินทีค ไปยังปางช้างใน จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จึงจะแจ้งความดำเนินคดีกับควาญช้างในข้อหาลักทรัพย์ช้างของกลาง พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของผู้ครอบครองช้างที่ไม่ถูกต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ความคืบหน้าล่าสุดวานนี้ (15 ธ.ค.2559) นายสุชาติ บุญศรี ทนายความ พร้อมด้วยนายเรียงทองบาท มีพันธุ์ และนางสาวลาดทองแท้ มีพันธุ์ เจ้าของช้าง นำพลายทีจี อายุ 5 ปี ที่กรมอุทยานแจ้งอายัดไว้ว่าเป็นช้างป่าสวมตั๋วรูปพรรณ ไปเข้าพบตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันพร้อมนำหลักฐานตั๋วรูปพรรณช้างทั้ง 2 เชือกไปมอบให้พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา
โดยนายเรียงทองบาทยืนยันว่าช้างทั้ง 2 เชือกมีที่มาถูกต้อง และที่ปางช้างมีการเพาะพันธุ์ช้างมานานปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 40 เชือก ส่วนพลายทีจี ก็มีหลักฐานตั้งแต่แม่คลอด ทางวังช้างอยุธยาและครอบครัวจึงต้อง แจ้งความไว้เป็นหลักฐานและเตรียมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ เป็นเงิน 111ล้านบาท
ด้านนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การที่ชุดพญาเสือเข้าอายัดช้างดังกล่าว เป็นการอายัดก่อนที่จะมีการใช้มาตรา 44 ที่ให้ตรวจดีเอ็นเอช้างทั่วประเทศ ไม่ใช่การไล่ตรวจดีเอ็นเอเพื่อมาจับกุมช้างผิดกฏหมาย จึงขอให้ปางช้างที่ยังไม่ได้ตรวจดีเอ็นเอเข้าใจ และไม่อยากให้ขัดขืนคำสั่ง คสช. ที่ต้องตรวจให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดทางกฎหมายนี้
นายอดิศรกล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้ตรวจดีเอ็นเอช้างไปเพียง 1,700 กว่าเชือก จากช้างบ้าน 3,500 เชือก หรือไม่ถึงร้อยละ 50 จึงไม่อยากให้นำเรื่องของการไล่ตรวจดีเอ็นเอจากเลือดช้างเป็นข้อต่อรอง เพราะการทำงานของชุดพญาเสือเป็นคนละส่วนกันกับการเก็บดีเอ็นเอที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลช้างบ้านในประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2560 ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย