ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นสากลปี 2559 ว่า แม้รัฐบาลจะมีแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเปิดให้แรงงานที่ถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทยและกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี
แต่มีแรงงานขึ้นทะเบียนเพียง 1.2 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขที่กระทรวงแรงงานคาดการณ์ไว้ 3 ล้านคน เป็นตัวสะท้อนว่ามาตรการจัดการแรงงานยังมีปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ซึ่งมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้ว แต่ต้องขึ้นทะเบียนแรงงานใหม่ ถูกลดสถานะอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว จึงไม่ได้รับการร่วมมือกับกลุ่มนี้มากนัก จึงเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยให้คงสถานะกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้วและประสานงานประเทศต้นทางเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติกลุ่มที่ถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย
นอกจากนี้ยังเรียกร้องรัฐบาลพัฒนากลไกการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นกลไกแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงาน, รัฐบาลต้องแก้กฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน, กระทรวงแรงงานต้องดำเนินการแก้ไขนิยาม "แรงงานบังคับ" ให้ครอบคลุมการถูกบังคับที่นอกเหนือจากการถูกข่มขู่ การใช้ความรุนแรง เช่น การยึดพาสปอร์ต ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทันที รวมถึงดำเนินการตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในเวทีสหประชาชาติเรื่องการพัฒนากลไกการคัดกรองบุคคลเข้าเมืองในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และมีมาตรการดำเนินการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่นอกเหนือจากการกักขัง