จากการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาและทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวหลังจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จาก 12 ปี เป็น 20 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) โดยได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ รวมทั้งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงของน้ำ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้นำผลการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลขึ้นมาทบทวนใหม่ในการที่จะผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินจากที่มีปริมาณน้ำท่าที่อยู่ในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 8,937 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆเลย นำมาเติมในเขื่อนภูมิพล จากผลการศึกษาเดิมมี 22 แนวทาง ซึ่งสรุปว่ามี 2 แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
แนวทางแรก เป็นการผันน้ำจากห้วยแขนงและแม่น้ำเมย สาขาของลุ่มน้ำสาละวิน มาเติมในเขื่อนภูมิพล ส่วนแนวทางที่ 2 เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นสาขาของลุ่มน้ำสาละวิน อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเช่นเดียวกันซึ่งแนวทางที่ 2 มีความเป็นไปได้มากกว่า
“คณะผู้เชี่ยวชาญจากทีมที่ปรึกษาได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า แนวทางที่ 2 ที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำแม่ยวมตอนล่างมาเติมในเขื่อนภูมิพลมีความเป็นไปได้มากกว่าแต่เพื่อสร้างความมั่นใจประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายของรัฐบาล กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้ง 2 แนวทาง เพื่อคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ผลักดันให้เป็นจริงภายในไม่เกิน 10 ปี
แม้การดำเนินโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนที่ได้ก็คุ้มค่าเพราะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมให้กับลุ่มเจ้าพระยาได้ในระยะยาว" รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเขื่อนภูมิพลมีความจุทั้งสิ้น 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล ตั้งแต่ปี 2507 ถึง 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5,774 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากฐานข้อมูลการเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2547 - 2559 ปริมาตรน้ำใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น