ความคืบหน้ากรณีที่กลุ่มนักวิชาการทางทะเลและกลุ่มนักดำน้ำอิสระ เปิดเผยภาพใต้ทะเลบริเวณกองหินขาว ซึ่งอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วันนี้ (19ธ.ค.2559) นายศักดิ์อนันต์ ปลา ทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยา ลัยสงขลานครินทร์ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของแนวปะการัง 7 สีทีมีความสวยงามบริเวณกองหินขาว ที่บ่งชี้ถึงความสวยงามและความสมบูรณ์ของปะการัง ทรัพยากรสัตว์น้ำที่อาศัยในบริเวณนี้
นักวิชาการ ยืนยันว่าการนำภาพถ่ายชุดนี้ออกมาสู่สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อตอกย้ำว่ากองหินขาว เป็นพื้นที่ตกสำรวจทางวิชาการ อยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่ยังไม่ได้ถูกประกาศอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยตำแหน่งของกองหินขาว และเกาะไก่ ยังอยู่นอกแผนที่ระวาง 1:50,000 แผ่นที่มีหมู่เกาะบุโหลน ในช่วงการจัดทำแผนที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งแม้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะขยับรับลูกว่าจำเป็นต้องประกาศผนวก จึงอยากให้ประกาศครอบคลุมรัศมี 500 เมตรรอบจุดที่มีแนวปะการัง
นอกจากนี้ยังเสนอว่าอีก กระบวนการที่สามารถทำได้เร็วกว่าการรอผนวกเข้าอุทยานเภตรา คือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช. สามารถประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งอาศัยอำนาจตามตามกฏหมายทรัพยากรทางทะเล พ.ศ.2558 ประกาศเป็นกฎกระทรวงและใช้อำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงควรต้องมีการทบทวนข้อมูลการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ( อีเอชไอเอ)โครงการนี้อีกรอบ เพิ่มเติมเนื้อหาความสมบูรณ์ของทรัพยากรรอบพื้นที่กองหินขาว ที่จะได้รับผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากภาพปะการังแล้ว ยังมีภาพ "แส้ทะเลสีขาว"จากนักถ่ายภาพใต้น้ำชื่อ Waran Rbj Suwanno ซึ่งเจ้าของภาพระบุว่าเป็นภาพที่หาดูได้แถวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก
ขณะที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม หรือ ทส. บอกว่ามอบหมายให้กรมอุทยานฯเร่งหามาตราการคุ้มครองพื้นที่ตกสำรวจแล้ว โดยยืนยันจะไม่ให้เกิดโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่หายาก ตามที่นักวิชาการแสดงความกังวล