สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้มาเป็นเวลา 8-9 ปี มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เพราะมุ่งไปที่ประเด็นการหมิ่นประมาท แทนที่จะเป็นการกระทำผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การเจาะข้อมูล แต่เมื่อแก้ไขกฎหมายกลับเกิดกระแสต่อต้าน เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่มั่นใจกระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาล จึงต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะการออกประกาศที่เกี่ยวข้องในประเด็นการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 9 คน ซึ่งต้องมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน
นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้วยังมีชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลอีกหลายฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.โดยเฉพาะ ร่างกฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าเตรียมจะผลักดันต้นปี 2560 ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านกังวลว่าจะมีแนวคิดเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์
ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วานนี้ (19 ธ.ค.2559) กลุ่มผู้ค้ดค้านยังคงเคลื่อนไหวด้วยปฏิบัติการ F5 หรือการเข้าไปรีเฟรช หน้าเว็บซ้ำๆ ซึ่งส่งผลให้เว็บไซด์ของหน่วยงานราชการหลายแห่ง ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วขณะ
ขณะที่เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม หนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มผู้คัดค้านที่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ยังใช้งานได้ตามปกติ ซึ่ง พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ยอมรับว่า ตรวจพบความพยายามเจาะข้อมูลเว็บไซต์จริง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีระบบป้องกัน พร้อมขอความร่วมมือไปยังกลุ่มที่เคลื่อนไหว ให้ยุติการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ยืนยันว่า จะต้องเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลัง สนช.ผ่านความเห็นชอบ โดยยืนยันว่าเป็นกฎหมายที่พัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม