ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชี้มาตรา 44 ต่อลมหายใจฟรีทีวี 22 ช่อง

เศรษฐกิจ
20 ธ.ค. 59
20:33
567
Logo Thai PBS
 ชี้มาตรา 44 ต่อลมหายใจฟรีทีวี 22 ช่อง
ม.44 ให้สิทธิ์ 22 ช่องฟรีทีวี จ่ายค่าประมูลช้าได้ แต่เสียดอกเบี้ย สั่ง กสทช.จ่ายค่าเช่าออกอากาศบนดาวเทียมแทนผู้ประกอบการ 2,500 ล้านบาท "สุภิญญา" กังขา คำสั่งแฝงให้สิทธิ์ กองทัพ-หน่วยรัฐ ยึดคลื่นวิทยุ 537 คลื่น ต่อยาวอีก 5 ปี จัดสรรใหม่ เม.ย.60

วันนี้ (20ธ.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ออกคำสั่ง ฉบับที่ 76/2559 เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งใน 3 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบกิจการฟรีทีวี 22 ช่อง ที่ออกอากาศภาคพื้นดินระบบดิจิทัล และเกี่ยวกับการยืดเวลาคืนคลื่นความถี่สถานีวิทยุในสังกัดของกองทัพและหน่วยงานราชการ จำนวน 537 สถานี

สำหรับประเด็นแรก การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฟรีทีวี จำนวน 22 ช่อง มีด้วยกัน 2 ประเด็นตามที่ผู้ประกอบการเคยเสนอไป ได้แก่ การจ่ายเงินค่าชนะประมูลใบอนุญาต ในงวดที่ 4 ซี่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2560 ผู้ประกอบการสามารถจ่ายได้หลังจากเดือนพฤษภาคม แต่ต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตรา MLR ของธนาคารแห่งประเทศไทย

สั่ง กสทช.จ่ายแทน 2,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีคำสั่งให้ สำนักงาน กสทช. ช่วยจ่ายค่าเช่าเสาโครงข่ายสัญญาณดาวเทียม ซึ่งผู้ประกอบการฟรีทีวี 22 ช่อง ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน ให้กับผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียม (บริษัทไทยคม) เพื่อให้เป็นไปตามกฏมัสแครี่ย์ โดยกฏนี้ กสทช.กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ชนะประมูลทีวีดิจิทัล ต้องออกอากาศให้ครบทุกช่องทางที่ออกอากาศได้ เพื่อให้ประชาชนรับชมได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เนื่องจากทั้ง 22 ช่อง เป็นกลุ่มฟรีทีวี จึงต้องออกอากาศในโครงข่ายดาวเทียมและทางเคเบิ้ลทีวีด้วย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่าผลจากคำสั่งตามมาตรา 44 นี้ กสทช.จะช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายดาวเทียมแทนผู้ประกอบการ เป็นเวลา 3 ปี รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะรวมถึงการจ่ายให้ช่องทีวี ประเภทกลุ่มสาธารณะอีก 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 , ช่อง NBT, อสมท. และช่องไทยพีบีเอสด้วย โดยจะต้องเสนอเข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง (กทปส.)



ให้สิทธิ์กองทัพ-รัฐ กุมคลื่น FM ยาวอีก 5 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งตามมาตรา 44 ในส่วนของข้อ 7 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการฟรีทีวีดิจิทัล แต่เป็นคำสั่งระงับการคืนคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุ และส่งผลทำให้สถานีวิทยุที่อยู่ในสังกัดของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์, อสมท. และสถานีวิทยุในกองทัพ รวม 537 สถานี ได้สิทธิ์ขยายระยะเวลาเป็นเจ้าของสัมปทานต่อไปอีก 5 ปี นับจากนี้ จากกำหนดเดิม ทั้งหมดจะต้องส่งคืนคลื่นให้ กสทช.ภายในเดือนเมษายน 2560 เพื่อนำไปจัดสรรและประมูลให้ใบอนุญาต



ชี้ ข้อเสนอ ได้ไม่หมด เอกชนรอเจรจาเพิ่ม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการฟรีทีวีดิจิทัล เคยเสนอขอหัวหน้าคสช.ให้ใช้มาตรา 44 นั้น มีอีกหลายประเด็น แต่วันนี้ ไม่ได้พิจารณาหรือมีคำสั่ง ได้แก่ การขอขยายระยะเวลาถือครอบอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จากเดิม 15 ปี เป็น 20 ปี  ขอลดค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ซึ่ง 22 ช่อง เช่าอยู่กับเจ้าของโครงข่าย 3 รายหลัก ไทยพีบีเอส, ช่อง5, อสมท.เพื่อให้แต่ละสถานีออกอากาศได้ และกรณีหากผู้ประกอบการรายใดต้องการทิ้งใบอนุญาตประมูล ก็ไม่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลืออยู่ งวด 4,5 และ 6 จากทั้งหมดที่ต้องจ่าย 6 งวด

นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากมี 2 ประเด็นตามที่ขอไป และ คสช.ช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น ส่วนประเด็นอื่นๆ จะยังต้องเจรจากับทาง กสทช. ต่อไป ส่วนผู้ประกอบการจะทะยอยค่าประมูลงวดที่ 4 หลังพ้นเดือนพฤษภาคม 2560 ไปแล้วหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ประกอบการแต่ละช่อง รวมถึง สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ซึ่งนายเขมทัตต์ เป็นผู้บริหารด้วยนั้น ก็จะนำเสนอเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารอีกครั้ง เพื่อขอทราบแนวทางและความชัดเจน

"สุภิญญา" กังขาเงินช่วย 2,500 ล้านบาท สูงเกินจริง 

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช.ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งตามมาตรา 44 กรณีช่วยผู้ประกอบการฟรีทีวีดิจิทัลนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยสำหรับประเด็นขยายเวลาจ่ายเงินค่าชนะประมูล แต่กรณีที่ กสทช.จะจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่ายแทนผู้ประกอบการฟรีทีวี จำนวน 2,500 ล้านบาท นั้น เป็นวงเงินที่สูงเกินความเป็นจริง และวันพรุ่งนี้ จะทำบันทึกในฐานะกรรมการสอบถาม สำนักงาน กสทช. ให้ชี้แจง เพราะแม้ว่า จะเห็นด้วยว่า ควรจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการค่าเช่าโครงข่ายดาวเทียมตามกฎมัสแครี่ แต่ก็ไม่ควรจ่ายถึง 2,500 ล้านบาท เพราะวงเงินนี้ บริษัท ไทยคมจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์เพียงผู้เดียว และหากเป็นไปด้วยก็ควรนำเงินแบ่งไปช่วยจ่ายค่าเช่าเสาโครงข่ายที่ต้องออกอากาศในระบบดิจิทัล ภาคพื้นที่ ที่ทั้ง 22 ช่อง เช่า ไทยพีบีเอส, ช่อง 5 และ อสมท. ด้วย อาจเป็นการช่วยเหลือได้อีกช่องแทน ซึ่งเรื่องนี้ บอร์ด กทปส. อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ

 



เธอ บอกว่า ประเด็นที่รับไม่ได้มากที่สุด คือ การที่คลื่นของหน่วยงานรัฐ ยังได้สิทธิขยายเวลาเป็นเจ้าของคลื่น ภายในระบบสัมปทานต่อไปอีก 5 ปี แทนที่จะคืนกลับมาให้ กสทช. นำไปจัดสรร เรื่องนี้ไม่ทราบเจตนาที่เกิดขึ้นว่าคำสั่งตาม ม. 44 เหตุใดจึงมีเรื่องที่เกี่ยวกับการคืนคลื่นรัฐมาเกี่ยวข้องด้วยทั้งๆ ที่ควรจะเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการฟรีทีวีเท่านั้น

การที่หน่วยงานรัฐ และกองทัพยังได้สิทธิเป็นเจ้าของคลื่นสถานีวิทยุต่อไป โดยไม่ส่งคืนตามแผนแม่บท กสทช. ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เสรีเป็นธรรม เป็นการแช่เวลาให้ระบบสัมปทาน เพราะผู้ประกอบการสถานีวิทยุรายใหม่ที่สนใจจะยังไม่ได้ใบอนุญาต และกลุ่มผู้ประกอบการที่ทดลองออกอากาศในขณะนี้ ก็ยังไม่ได้ใบอนุญาตตัวจริง แต่กองทัพและหน่วยงานรัฐ กลับได้สิทธิ์ถือครองคลื่นต่อไป ซึ่งจะอ้างเรื่องความมั่นคงก็ไม่น่าจะฟังขึ้น เนื่องจาก จำนวนคลื่นวิทยุทั้ง 537 สถานีนั้น ในจำนวนนี้ มีมากกว่าร้อยละ 50 เป็นคลื่นที่เกี่ยวกับความบันเทิงและเปิดเพลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง