เวทีเสวนาหัวข้อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2559 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มถ้อยคำ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ "บิดเบือน" ในร่างกฎหมาย อาจนำไปสู่การตีความกฎหมายที่กระทบต่อการแสดงความคิดเห็นหรือปิดปากประชาชนในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชนที่ออกรายงานการซ้อมทรมาน แล้วเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายหมิ่นประมาทมีขึ้นเพื่อฟ้องร้อง ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนจบไป นั่นคือ ไม่ได้เป็นการฟ้องเอาผล แต่เป็นการฟ้องปิดปาก
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษา สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ระบุแม้ไม่ได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่มองว่าการแก้ไขเพื่อแยกความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับความผิดฐานหมิ่นประมาทออกจากกันตามมาตรา 14 จะส่งผลดีต่อการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 9 คน ก่อนเสนอเรื่องไปยังศาลเพื่อระงับข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากเดิม