หลายคนคง ถูกอก ถูกใจ กับของขวัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบให้พี่น้องคนไทยต่อเนื่องหลายชุด ตั้งแต่มาตการเที่ยวช่วยชาติลดหย่อนภาษี 2 ต่อ ในเดือนธันวาคม 15,000บาท รวมปีนี้ ใช้สิทธิ์ได้สูงสุด 30,000 บาท กินเที่ยวช่วยชาติสงกรานต์ 15,000 บาท ตามต่อด้วย ช็อปช่วยชาติ ภาค 2 ลดหย่อนภาษี 15,000 บาท พร้อมเพิ่มยาแรงขยายเวลาจากเดิม 7 วัน เป็น 18 วัน
มาตรการของขวัญปีใหม่ปีนี้ อาจเรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็มกว่าทุกปี หลังสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทั้งรัฐและเอกชน ต่างชี้ว่าสัญญาณการลงทุนเอกชน ไม่ฟื้น ส่งออกติดลบ ซ้ำเติมการบริโภคในประเทศที่แผ่วตัวแรง จากบรรยากาศความโศกเศร้าและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด
แม้ต้องยอมเฉือนเนื้อจ่ายเงินคืนภาษี ไม่น้อยกว่า 3,200 ล้านบาท แต่มาตรการได้ใจมนุษย์เงินเดือน ก็ทำให้อยากออกมาจับจ่ายสินค้าเร็วขึ้น เป็นเพิ่มยอดขายให้กับเอกชน ขณะที่รัฐได้เงินภาษีมูลค่าเพิ่มกลับเข้ากระเป๋ามากกว่าที่ต้องจ่าย
มาตรการของขวัญของรัฐบาล ออกมาไล่เรียงกับช่วงที่รัฐบาลกดปุ่มโอนเงินให้ผู้ลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 1,500 บาท และ 3,000 บาท ซึ่งธนาคารรัฐ 3 แห่ง ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและกรุงไทย จ่ายเงินแล้วกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นเงินมากกว่า 14,000 ล้านบาท
ของขวัญปีใหม่ยังแจกไม่หมด ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธ.ก.ส.และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังแจกเงินคืนดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 1,000บาท สำหรับลูกหนี้รายย่อยชั้นดี ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงลดภาระดอกเบี้ยในอนาคต แต่ยังได้เงินสดกลับไปใช้จ่าย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้า กล่าวว่า มาตรการของขวัญปีใหม่ จะช่วยเติมเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท
“เราคาดว่าในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยก็ควรจะขยายตัวได้ในกรอบประมาณ 3 - 3.3%”
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังยอมรับว่า มาตรการของขวัญปีใหม่ มีผลต่อจีดีพีปีนี้เพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการเพื่อหวังผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือสร้างปรากฎการณ์กระตุ้นจับจ่ายประเดี๋ยวประด๋าว เหมือนสำนวนไหม้ฟางวูบวาบชั่วครู่ แต่ปูทางให้เศรษฐกิจเกิดแรงขับเคลื่อนต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยเตรียมอัดฉีดเงินลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 7-8 แสนล้านบาท หวังจีดีพีปีหน้าโตเต็มศักยภาพร้อยละ 4
“ ถามว่ามีผลต่อเศรษฐกิจไหม ก็มีนิดเดียวจุดศูนย์นิดๆไม่ได้เป็นเป้าหลัก เรื่องบิ๊กแบงที่ท่านรัฐมนตรีและท่านปลัดอยากได้ ให้เราไปดำเนินการให้ไปคิดดู ก็จะเป็นเรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ ปีหน้าที่คิดว่าจะมา เรื่องงบประมาณที่ภาครัฐจะเข้าไปใส่ในเรื่องการลงทุนมากขึ้น อันนั้นมีส่วนช่วยจริงๆ มากกว่า” นายกฤษฎา กล่าว
แม้มาตรการของขวัญปีใหม่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความเสี่ยงในการสร้างนิสัยใช้จ่ายเกินตัวและช่วยเอกชนระบายสต็อกสินค้า แต่เศรษฐกิจประเทศกำลังขาดแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน ทำให้มาตรการทางภาษี ซึ่งได้ผลเร็วและวัดผลได้ถูกหยิบขึ้นมาใช้
ขณะที่แผนการลงทุนภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดบิ๊กแบง ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว ก็ต้องดำเนินอย่างโปร่งใสด้วย เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์อย่างเต็มที่