วันนี้ (30 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากยอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีกว่า 38 ล้านคน ธุรกิจไทยจึงหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของไทย โดยในปี 2558 มีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบกับแผนแม่บทของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0
น.ส.นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ความต้องการตำแหน่งงานการตลาดดิจิทัล มีมากกว่า 5,000 ตำแหน่ง แต่มีผู้สนใจสมัครงานสายดังกล่าวเพียง 700 ตำแหน่ง ส่งผลให้ตลาดขาดแคลนตำแหน่งนี้ถึงร้อยละ 85
ข้อมูล JobsDB ระบุว่า ปัจจุบันโครงสร้างเงินเดือนแรงงานสายการตลาดดิจิทัล มีอัตราสูงกว่าแรงงานสายการตลาดแบบดั้งเดิม ถึงร้อยละ 61 อัตราเงินเดือนระดับหัวหน้างานสายการตลาดดิจิทัล เริ่มต้นที่ 48,333 บาท ขณะสายการตลาดแบบดั้งเดิม เริ่มต้นที่ 30,000 บาท เจ้าหน้าที่ระดับกลาง การตลาดดิจิทัล เริ่มต้นที่ 28,188 บาท ส่วนสายการตลาดแบบดั้งเดิมเริ่มต้นที่ 20,000 บาท เจ้าหน้าที่ทั่วไปสายการตลาดดิจิทัล เริ่มต้นที่ 19,305 บาท สายการตลาดแบบดั่งเดิมเริ่มต้นที่ 16,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราฐานเงินเดือน สูงกว่างานการตลาดแบบดั้งเดิม แต่การแข่งขันในสายงานนี้อยู่ในระดับ 10 ต่อ 1 สำหรับ 7 อาชีพดาวรุ่งในปี 2560 พบว่า อันดับ 1 คืออาชีพที่เกี่ยวกับดิจิทัล เพราะเป็นสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน มีสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนโยบายรัฐบาลไทย 4.0 ซึ่งตัวอย่างอาชีพด้านดิจิทัลที่มีความต้องการสูง เช่น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ผู้ดูแลเครือข่ายไอที
ส่วนอาชีพที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คืออาชีพที่เกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับวัยเกษียณ เพราะในปี 2563 ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าจำนวนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาการจัดการเงินออมน้อย ลงทุนไม่มาก แต่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพขึ้น แต่อาจต้องมองหาแผนรองรับ ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่าหลายอาชีพได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดังกล่าว