นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ประกาศบนเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ว่าจะนำความสงบสุขมาสู่รัฐยะไข่ให้ได้ แต่ในความเป็นจริงยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเมียนมาถูกกระแสกดดันจากนานาชาติและจับจ้องไปที่นางซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพว่าจะแก้ไขอย่างไร ทำให้นางซูจีเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนร่วมประชุมในวาระพิเศษและเห็นการพลิกท่าทีใหม่ของอาเซียนที่ไม่ยึดติดกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิกอื่นอีกต่อไป
วิกฤตการณ์ชาวโรฮิงญาจึงเป็นบททดสอบที่สำคัญของรัฐบาลเมียนมาและนางซูจี ทำให้ภาพของสตรีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องมัวหมองลงและในวันนี้กลับเป็นผู้ที่ถูกเรียกร้องให้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มชาติพันธุ์เสียเอง
ส่วนนักการเมืองหญิงชาวเอเชียอีกคนที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาว คือ น.ส.ปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่พัวพันกับการทุจริตครั้งใหญ่ เนื่องจากใช้ตำแหน่งผู้นำประเทศเอื้อผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับนางชเว ซุน-ชิล เพื่อนสนิท รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้เข้ามาก้าวก่ายการบริหารประเทศ เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นสร้างกระแสต่อต้านประธานาธิบดีปาร์ค จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ และนำไปสู่การลงมติในรัฐสภาถอดถอนผู้นำออกจากตำแหน่ง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากพบความผิดจริงก็จะทำให้ น.ส.ปาร์คกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ
ด้านผู้นำชายที่อื้อฉาวไม่แพ้กัน คือ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินจำนวนมหาศาลจากกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลอปเม้นต์ เบอร์ฮัด หรือ 1MDB ซึ่งนายนาจิบเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกายื่นฟ้องอายัดทรัพย์สินที่สงสัยว่ามีที่มาจากการฟอกเงินซึ่งถ่ายเทจากกองทุน 1MDB มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดออลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ไปซื้อสินทรัพย์ราคาแพงในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งธนาคารกลางสิงคโปร์ยังยึดทรัพย์สินที่สงสัยว่าฉ้อโกงจากกองทุน 1MDB มูลค่า 6,195 ล้านบาทด้วย
ประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้ชาวมาเลเซียไม่พอใจ รวมไปถึงนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประท้วงครั้งใหญ่เพื่อกดดันให้นายนาจิบลาออก แต่กลับไม่เป็นผล เนื่องจากพรรคอัมโนภายใต้การนำของนายนาจิบยังคงมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก
ปิดท้ายด้วยนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ที่ละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เริ่มต้นเขย่าขวัญประชาคมโลก ด้วยการทดลองระเบิดไฮโดรเจน ตามมาด้วยการทดลองยิงจรวด การปล่อยขีปนาวุธทั้งพิสัยใกล้และพิสัยกลาง รวมทั้งยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ จนทำให้เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต้องเพิ่มมาตรการทางทหารเพื่อป้องกันการคุกคามจากเกาหลีเหนืออย่างเร่งด่วน
ในปี 2560 ทั่วโลกยังคงต้องจับตาดูเกาหลีเหนือกันต่อไป ว่าจะดำเนินมาตรการทางทหารหรือมีการทดลองนิวเคลียร์ครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากความเคลื่อนไหวในแต่ละก้าวของเกาหลีเหนือย่อมส่งผลต่อความสงบสุขบนคาบสมุทรเกาหลีและประชาคมโลกอย่างแน่นอน