วันนี้ (1 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฏการณ์ความสำเร็จของภาพยนตร์ขายขำ "หลวงพี่แจ๊ส 4G" ของ พชร์ อานนนท์ หนังไทยม้ามืดปี 2559 ที่ทำรายได้ถึง 151 ล้านบาท จนติดชาร์ตหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอันดับที่ 10 และภาพยนตร์เรื่องแรกของค่ายหนังอารมณ์ดี GDH559 "แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว" ปิดรายได้ถึง 110 ล้านบาท ดูเหมือนจะช่วยการันตีความสำเร็จของหนังไทยได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มว่าอาจช่วยแชร์ส่วนแบ่งรายได้ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมากขึ้น
แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังในปี 2559 กลับพบว่าตลาดหนังไทยไม่คึกคัก ด้วยจำนวนเข้าฉายน้อยกว่าปีก่อนถึง 10 เรื่อง และกว่าครึ่งเป็นหนังนอกกระแสแทบทั้งหมด ทำให้ปี 2559 หนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 15 ทำสถิติต่ำสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในรอบ 10 ปี สาเหตุเกิดจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ที่สร้างความเสียหายถึงร้อยล้านบาทต่อเดือน และการปรับตัวของบริษัทผู้สร้างหนังทำให้ผลิตผลงานลดลง
น.ส.ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ผู้บริหาร บริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขของไทยปีนี้น่าจะปิดอยู่ที่ 14-15 เปอร์เซ็นต์ ปีที่แล้วอาจจะ 17-18 เปอร์เซ็นต์ อยู่ประมาณนี้ ตั้งแต่มีการละเมิดก็อยู่ยากมาตลอด เมื่อก่อนมีการละเมิดแผ่นก็อยู่ยากอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนมาเป็นการดาวน์โหลด ปัญหานี้อยู่ยากขึ้นกว่าอีก ทุกอย่างมันเร็วขึ้น ยากขึ้น คนดูการละเมิดได้ง่ายขึ้น
นายโสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนออกมาดูหนังน้อยลง ซึ่งมันอยู่ยากแน่ๆ แต่ในฐานะคนทำหนัง กลับเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าผู้บริโภคไม่ออกมาดูหนังแล้ว ถ้าหนังนั้นไม่น่าสนใจ โดยเฉพาะเนื้อหา ดังนั้น คนทำหนังก็ไม่สามารถทำอะไรเดิมๆ ได้แล้ว
แม้ค่ายหนังหลายแห่งเริ่มปล่อยรายชื่อและตัวอย่างหนังของปี 2560 ออกมาเรียกน้ำย่อย แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงทิศทางหนังได้ เพราะอิทธิพลจากสื่อออนไลน์ที่เข้ามาชี้นำและพฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไปจนยากจะคาดเดา รวมถึงหนังบล็อกบัสเตอร์ภาคต่อและหนังรีเมคจากต่างประเทศ ที่เข้ามาเรียกเงินในกระเป๋าผู้ชมอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ในปี 2560 มีหนังไทยลดลงกว่าปีก่อนๆ สวนทางกับหนังของผู้สร้างอิสระที่จะมีมากขึ้นเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า รวมถึงพื้นที่ฉายนอกเหนือจากโรงภาพยนตร์กำลังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีตัวอย่างจาก Bangkok Screening Room พื้นที่ฉายหนังอิสระสำหรับภาพยนตร์นอกกระแส หากก็อาจไม่ช่วยคนหนังมากนักในเชิงของรายได้
น.ส.อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ปี 2560 น่าจะมีหนังเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย หนังใหญ่อาจจะน้อยลง เพราะรู้สึกว่าหนังระบบสตูดิโอค่าตั๋วสูงขึ้น คนดูน้อยลง และอาจจะไม่ได้มีการผลิตเยอะ เพราะทำแล้วไม่ได้กำไรมาก
นายภาณุ อารี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า คนดูกลายเป็นผู้กำหนดเทรนมากกว่าผู้สร้างหนังเป็นผู้กำหนด คนดูอาจต้องเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดว่าคนดูต้องการอะไร คนทำหนังจึงค่อยนำข้อมูลที่ได้มาปรับในการผลิตหนัง
ความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์หลายรายเริ่มรัดเข็มขัดมากขึ้น ด้วยการลดทุนสร้างและรูปแบบโปรดักชั่น ทำให้หนังฟอร์มยักษ์ทุนสูงยากจะผ่านการพิจารณา แนวโน้มเดียวคือต้องสร้างภาพยนตร์