ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ท่องโลกอักษร - เสรีภาพในงานวรรณกรรมสิงคโปร์

ศิลปะ-บันเทิง
10 มิ.ย. 58
16:07
2,287
Logo Thai PBS
ท่องโลกอักษร - เสรีภาพในงานวรรณกรรมสิงคโปร์

มาตรการการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดกลายเป็นข้อจำกัดในแวดงวรรณกรรมของสิงคโปร์ แต่สำหรับโรเบิร์ต โหย่ว นักเขียนซีไรต์ชาวสิงคโปร์ ยังเลือกที่จะบอกเล่าความเป็นจริงในสังคมผ่านงานเขียน

“พ่อบอกฉันว่า ฉันต้องแต่งงานกับผู้ชายมุสลิมด้วยกัน ถ้าคุณไม่เปลี่ยนศาสนา ฉันคงจะต้องแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อเลือก” ความเป็นจริงที่นอร่าหญิงสาวชาวมลายูต้องยอมรับเมื่อความรักระหว่างเธอและหนุ่มสิงคโปร์เชื้อสายจีน ถูกขัดขวางจากครอบครัวในเวลาที่ชาวจีนและมาเลย์ยังมีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในช่วงทศวรรษที่ 1960  เป็นโศกนาฏกรรมความรักในอุปรากรเรื่อง Fences ในปี 2012 ผลงานการเขียนบทละครของโรเบิร์ต โหย่ว ผู้บุกเบิกละครเวทีภาษาอังกฤษของสิงคโปร์ ด้วยการนำประเด็นที่มีความอ่อนไหวทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง มาถ่ายทอดผ่านงานละครเวทีรวมถึงวรรณกรรม

อุดมการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มนักศึกษาสิงคโปร์ที่ได้เรียนรู้เสรีภาพจากโลกตะวันตกในช่วงเวลาของการก่อตั้งประเทศในปี 1965 ทำให้เพื่อนและพี่น้องต้องกลายเป็นศัตรูกันทางการเมือง คือ เรื่องราวในหนังสือ The Singapore Trilogy ที่รวบรวมบทละครเวที 3 เรื่องอย่าง  Are You There, Singapore? ละครเวทีสะท้อนการเมืองเรื่องแรกของสิงคโปร์ในปี 1974  One Year Back Home ปี 1980 และ Changi ปี 1997 ซึ่งโรเบิร์ต โหย่ว วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาทำให้โหย่วเป็นที่ยอมรับในฐานะศิลปินผู้เป็นปากเสียงให้ประชาชนจนได้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการด้านการพัฒนาละครเวทีของสิงคโปร์และรางวัลนักเขียนซีไรต์เมื่อปี 2011

โรเบิร์ต โหย่ว เล่าว่าหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐยื่นข้อเสนอเค้าให้เปลี่ยนแปลงบทเพื่อแลกกับใบอนุญาตแสดงละครเวที เค้าจึงต้องเจราจากับกองเซ็นเซอร์ ด้วยการอ้างเหตุผลด้านศิลปะว่าไม่ได้มีจุดประสงค์จะสร้างความแตกแยก อย่างเรื่อง One Year Back Home ที่ต้องใช้เวลากว่า 9 เดือนกว่าจะได้รับใบอนุญาตแสดงหรือเรื่อง Fences ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้วิธีจัดเรทผู้ชม จำกัดอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ศิลปินในสิงคโปร์ยังต้องเผชิญ

แม้สิงคโปร์จะพัฒนาประเทศจนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเวลาเพียง 50 ปี หากในแง่ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะประเด็นการเมือง เชื้อชาติ หรือความหลากหลายทางเพศยังคงมีข้อจำกัด ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับศิลปิน แต่ปัจจุบันวงการวรรณกรรมของสิงคโปร์ โดยเฉพาะงานเขียนในภาษาอังกฤษได้รับความนิยมอย่างมาก และมีหน่วยงานของรัฐสภาศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์ให้การสนับสนุน ทั้งการจัดงาน Singapore Writers Festival หรือการมอบรางวัล Singapore Literature Prize ให้กับนักเขียนทั้ง 4 ภาษาในสิงคโปร์ คือ อังกฤษ จีน มาเลย์ และทมิฬ ซึ่งนักเขียนอาวุสโสมองว่าสิ่งนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาวงการวรรณกรรมของประเทศ

อัญชลี โปสุวรรณ รายงานจากประเทศสิงคโปร์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง