การกำหนดคำขวัญวันเด็กในทุกๆปี เพื่อเป็นทิศทาง และคุณลักษณะของเด็กในชาติ นักวิชาการด้านการศึกษา เห็นว่าที่ผ่านมาการกำหนดคุณลักษณะของเด็กยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังคงมุ่งเน้นให้เด็กดีต้องเรียนเก่งเรียนดีเท่านั้น แต่ด้านคุณธรรม ความซื่อสัตย์ การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมยังไม่เกิดขึ้น
จากการการเสวนาหัวข้อ "ตีโจทย์คำขวัญวันเด็ก'60 เด็กไทยจะมีส่วนใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคงอย่างไร" ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การศึกษาคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี 2499 ถึง ปี 2560 พบว่า มีคำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำในคำขวัญวันเด็ก 6 คำ คือ วินัยและการเรียน จำนวน 18 ครั้ง ชาติ 17 ครั้ง คุณธรรม 15 ครั้ง ขยัน 11 ครั้ง ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และ ประชาธิปไตย 4 ครั้ง
จึงเห็นว่าคำขวัญวันเด็กที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะการสร้างคุณลักษณะของเด็กที่ยังกระจัดกระจาย ไม่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างคุณลักษณะเหล่านั้น ทำให้มีการใช้คำซ้ำ เช่น คำว่า วินัย และ คุณธรรม
ศ.สมพงษ์ บอกอีกว่า วันเด็กเป็นวันสำคัญที่มีรากฐานมาจากอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็ก ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับ 4 ด้าน คือ สิทธิการอยู่รอด สิทธิการได้รับการคุ้มครอง , สิทธิการได้รับการพัฒนา และ สิทธิการมีส่วนร่วม
ดังนั้นประเทศไทยควรกำหนดคุณลักษณะของคนในชาติอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง โดยการสร้างความร่วมมือของคนทั้งชาติ ไม่ใช่การกำหนดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง