สืบเนื่องจากโพสต์ที่เรียกได้ว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกของนักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2548 บินหลา สันกาลาคีรี หรือนายวุฒิชาติ ชุ่มสนิท เขียนถึงเพื่อนพี่น้องวงการนักเขียน บนเพจเฟซบุ๊ก Writer Thailand กล่าวถึงกรณีที่ "ไผ่ ดาวดิน" หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทความข่าวของบีบีซีไทย ขณะนี้ถูกคุมขังที่เรือนจำขอนแก่นจากการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 ภายหลังศาลถอนประกันตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่านายจตุภัทร์ได้โพสต์เฟซบุ๊กอันเป็นการเยาะเย้ยเจ้าหน้าที่ และผลจากการถูกคุมขังทำให้นายจตุภัทร์ ไม่สามารถออกไปสอบได้ แม้จะใช้หลักทรัพย์ในการยื่นประกันในสองครั้งหลังถึง 5 แสนบาท
บินหลา สันกาลาคีรี โพสต์ตั้งคำถามแก่เพื่อนนักเขียนว่ากรณีไผ่ ดาวดิน ได้รับการปฏิบัติจากกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และในฐานะนักเขียนสามารถทำอะไรได้บ้าง พร้อมชักชวนให้เพื่อนนักเขียนไปเยี่ยมนายจตุภัทร์ที่เรือนจำ หลังจากที่ตนได้ไปเยี่ยมมาก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในหมายเหตุยังระบุอีกว่า ความตั้งใจแรกของจดหมายเปิดผนึกนี้จะเขียนถึงเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ และสมาชิก สนช.
ไทยพีบีเอส สอบถามไปยังนักเขียนซีไรต์ถึงการตอบรับของนักเขียนภายหลังข้อเขียนบนเฟซบุ๊กเผยแพร่ออกไป บินหลา เปิดเผยว่า มีเพื่อนนักเขียนจำนวนหนึ่งเข้ามาพูดคุยถึงการเข้าเยี่ยมนายจตุภัทร์ แต่การไปเยี่ยมไผ่อาจจะไม่ได้เป็นรูปแบบของการนัดหมายเป็นทางการ บินหลา กล่าวถึงเหตุผลในการเขียนเข้อขียนดังกล่าวว่า จากการติดตามข่าวสารของคดีและฟังนักกฎหมายที่ออกมาให้ความเห็น ทำให้เห็นความไม่เป็นธรรม และเห็นใจนายจตุภัทร์ ที่ต้องสูญเสียโอกาสในชีวิตจากการไม่ได้รับประกันตัว แม้ว่าครอบครัวจะมีความรู้ทางกฎหมายที่มีบิดาเป็นทนายความ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสในการสู้คดี
"ตอนเห็นไผ่ในเรือนจำทำให้คิดว่าสงสารชีวิตคนๆ หนึ่งที่ต้องเสียโอกาสหลายอย่างไป เพราะกติกาสังคมที่ไม่ชัดเจน และกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อคนจน"
บินหลา กล่าวว่าเขารู้จักนายจตุภัทร์อย่างผิวเผิน แต่ออกมาพูดเรื่องนี้เพราะว่ากรณีของไผ่ สะท้อนภาพความเป็นธรรมที่มีอีกมากในสังคม เมื่อได้ไปเยี่ยมก็ได้พูดคุยถึงความเป็นอยู่ และรับรู้ว่านายไผ่ยังมีความเข้มแข็งดีทุกอย่าง
ต่อประเด็นที่บินหลากล่าวในข้อเขียนว่า ปัจจุบันด้วยสถานการณ์การเมืองทำให้แวดวงนักเขียนมีทัศนะทางการเมืองที่ต่างกัน บินหลาชี้ว่า ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองมีในทุกวงการ แต่เพียงนักเขียนนั้น กล้าคิด กล้าพูดแสดงออกมาจนกระทั่งปรากฏเป็นความขัดแย้ง
"ความเห็นส่วนตัว นักเขียนแต่ละคนอาจไม่รู้สึกเหมือนผมก็ได้ บางคนอาจพูดว่าไม่เห็นมีคนทะเลาะกัน ไม่ได้มองว่าเป็นภาวะไม่ปกติ แต่ถ้าไปดูที่หน้าเฟซบุ๊กของแต่ละคน ดูการมีปฏิสัมพันธ์ จะเห็นว่าสังคมของแต่ละคนหดแคบลง มีแต่เรื่องที่คุยกันได้เท่านั้น"
บินหลา ทิ้งท้ายว่า บทบาทของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ยังเงียบเกินไปต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นตัวแทนของคนที่พูดเรื่องเสรีภาพ
"นักเขียนต้องไม่เพียงแต่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง แต่ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์คนอื่นด้วย"