วันนี้(24ม.ค.2560) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน บอกว่า กรมชลประทาน สำรวจสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งล่าสุด เบื้องต้นพบ 348 แห่ง ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้หากมีการสำรวจเพิ่มเติม โดยการสำรวจครั้งนี้พบว่าที่ จ.นครศรีธรรมราช มากสุด 174 แห่ง เช่น ถนน 42 แห่ง สะพาน ทางลอด รองลงมาพัทลุง พัทลุง 30 แห่ง สุราษฎร์ธานี 25 แห่ง
รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่าสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ทั้งที่ข้อเท็จจริง สิ่งที่กีดขวางทางน้ำไม่ว่าจะถนนหรืออาคารบ้านเรือนล้วนมีกฎหมายควบคุม เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารสถานที่ กฎหมายขุดดินถมดิน
กฎหมายเหล่านี้ ล้วนใช้ควบคุมการก่อสร้างเพื่อไม่ให้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ พื้นที่โล่ง ที่เสี่ยงภัย หรือแม้แต่พื้นที่ขวางทางน้ำ แต่กฎหมายบังคับใช้ หลังก่อตั้งชุมชน หนึ่งในข้อจำกัดในทางปฎิบัติ
ทั้งนี้ แม้ว่าชุมชนจะก่อตั้งก่อนที่จะมีกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายควบคุมอาคารสถานที่แต่หากดูตามการออกแบบผังเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลับพบว่าไม่เคยมีการออกแบบทางระบายน้ำไว้ตั้งแต่แรก
ขณะที่ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บอกว่า รัฐมีอำนาจในการเวนคืนที่ดิน หากพบว่ามีผู้บุกรุก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ตามอำนาจหวงห้ามแต่ที่ผ่านมายังไม่พบว่าเคยมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้สำหรับการเปิดพื้นที่ทางระบายน้ำและวิธีการนี้ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ยอมรับว่ามีข้อจำกัดในทางปฎบัติ
ขณะที่ วานนี้( 23ม.ค.) วิศวกรอาสา จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ลงพื้นที่สำรวจบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ เพื่อประ เมินความเสียหาย และให้คำแนะนำถึงแนวทางในการฟื้นฟู โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสาธารณะ อย่างเช่น สะพานข้ามแม่น้ำชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่ถึงแม้กระแสน้ำจะไหลเชี่ยวแต่จากการประเมิน สะพานยังมั่นคงปลอดภัยที่จะใช้สัญจร ขณะที่โรงเรียนบ้านปากบางกลม อ.ชะอวด ซึ่งถูกน้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือนแล้ว พบว่า อาคารไม้บางส่วนเกิดการบิดตัว แต่จากการประเมินเบื้องต้น อาคารแห่งนี้ยังคงมีความปลอดภัย
การสำรวจครั้งนี้ ประกอบด้วยวิศวกรอาสา ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 200 คนลงพื้นที่ประเมินความเสียหายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำลดระดับแล้ว ทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งนอกจากแนะนำแนว ทางในการฟื้นฟูแล้ว วสท. จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ ไปพิจารณาให้คำแนะนำกับภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว