กว่า 2 ปีแล้วที่ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งเดินทางจากบ้านในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยในจังหวัดหม่องดอว์ ประเทศเมียนมา ไปหางานทำในมาเลเซีย ตามคำชักชวนของกลุ่มนายหน้าที่มาติดต่อในหมู่บ้าน ด้วยความหวังที่จะหนีความยากจนเพราะไร้งานทำเนื่องจากทางการเมียนมาได้จำกัดสิทธิความเป็นพลเมือง ทำให้ครอบครัวของเขาไม่สามารถออกไปหางานทำนอกค่ายพักพิง และต้องรอรับอาหารที่แจกจ่ายจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีเพียงปีละครั้ง และไม่เคยเพียงพอต่อสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
ลูกของชายคนนี้บอกว่า พ่อของเขาไม่มีเงิน จึงต้องยอมขายตัวเองให้กลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ที่จะนำไปขายต่อ เพื่อแลกกับความหวังว่ามีงานทำในประเทศที่สาม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจากพ่อ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้านอีกหลายคน
แต่ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่ถูกจ้างให้แบกปูนซีเมนต์ลงจากเรือขนส่งสินค้า แม้จะได้ค่าตอบแทนเมื่อคิดเป็นเงินไทยแค่ประมาณวันละ 20-30 บาท สภาพเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากชาวโรฮิงญาคนอื่นๆ ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยที่ถูกจำกัดสิทธิ์ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งการศึกษา การส่งเสริมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า หรือ น้ำประปา
จังหวัดหม่องดอว์มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ มีชาวโรฮิงญาจำนวนมาก และเมื่อสามปีก่อนเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธและชาวโรฮิงญา ผู้คนล้มตาย บ้านเรือนถูกเผานับพันหลัง และความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ชาวยะไข่ซึ่งนับถือพุทธ และชาวโรฮิงญาแทบไม่มีการสนทนาปฏิสัมพันธ์กัน ไม่นิยมซื้อของหรือใช้บริการในธุรกิจของคนต่างความเชื่อ ขณะที่การพัฒนาของรัฐก็แทบไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ซึ่งผู้ที่เดินทางจากจังหวัดซิตตเวซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐยะไข่ มายังจังหวัดหม่องดอว์มีเพียงเส้นทางเรือโดยสารที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 6 ชั่วโมง แต่หากเดินทางด้วยรถก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเพราะเส้นทางที่ทุรกันดาร ทำให้การพัฒนาของจังหวัดหมองดอว์ล่าช้า จนกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนมากที่สุดใน 4 จังหวัดของรัฐยะไข่ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต้องยอมเป็นสินค้าของกลุ่มค้ามนุษย์