ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เดินหน้าสู้! ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนใบอนุญาติเหมืองทองเลย

สิ่งแวดล้อม
27 ม.ค. 60
20:44
444
Logo Thai PBS
เดินหน้าสู้! ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนใบอนุญาติเหมืองทองเลย
ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนใบอนุญาติเหมืองทอง อ.วังสะพุง จ.เลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน การเหมืองแร่ (กพร.) และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

วันนี้ (27 ม.ค. 2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมด้วย ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เขายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตเหมืองทองเมืองเลย คดีหมายเลขดำที่ ส.1544/2556 หมายเลขแดงที่ ส.816/2558 ระหว่าง นายสราวุธ พรมโสภา กับพวกรวม 598 คน เป็นโจทก์ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน การเหมืองแร่ (กพร.) และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีให้ "ยกฟ้อง" โดยคำสั่งโดยสรุปของศาลระบุว่า การที่หน่วยงานออกประทานบัตรที่ 5 ฉบับ และต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมให้แก่บริษัทเหมืองทอง เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย การไม่เพิกถอนใบอนุญาตไม่ได้เป็นการละเลยต่อหน้าที่ สำหรับผลกระทบพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากเหมือง จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีที่ชาวบ้านฟ้องคดีและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากประเด็นหลัก คือเรื่องผลกระทบที่ยังไม่ถูกพิจารณาทั้งหมด ยังมีงานวิจัยและพื้นที่ที่ถูกผลกระทบแต่ไม่ถูกนำมาเปิดเผยและศาลไม่ได้นำมาพิจารณา ชาวบ้านจึงยื่นเอกสารเพิ่มเติม 2 คือส่วนที่มีคำสั่งของรัฐบาลและ คสช.ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามันมีผลกระทบ และรัฐบาลก็ยอมรับเองว่ามีผลกระทบ แต่ว่าศาลตัดสินสวนทางว่าบริษัทสามารถเดินหน้าต่อ ประทานบัตรยังอยู่

“ตรงนี้มีผลกับพี่น้อง เพราะว่าประทานบัตรเหมืองทองจะหมดอายุปี 2571 ดังนั้นจึงสามารถทำเหมืองได้ ความหมายจึงบอกอย่างนั้น” นายสุรพันธ์กล่าว

นายสุรพันธ์ กล่าวด้วยว่า เหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยหยุดประกอบกิจการมาประมาณ 4 ปีแล้ว อยากให้ศาลพิจารณาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น และดูข้อเท็จจริงให้เพิ่มเติมมากกว่าเดิม มากกว่างานวิจัยของจุฬาฯ ซึ่งถูกตั้งคำถามจากชาวบ้านว่างานวิจัยดังกล่างเป็นที่ยอมรับมากแค่ไหน เพราะงานวิจัยตรวจแค่จุดเดียว ไม่ได้มองในมุมเปรียบเทียบว่าพื้นที่อื่นมีสารโลหะหนักหรือไม่

อีกประเด็นคือเรื่องของขั้นตอนการออกใบอนุญาต ซึ่งชาวบ้านยังยืนยันเหมือนเดิมว่ากระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ขั้นตอนการขอประทานบัตร การทำประชาคม การมีส่วนร่วมของชุมชน การไต่สวนพื้นที่เหมืองแร่ ตรงนี้ต้องขอให้ศาลพิจารณา

ส่วนความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ นายสุรพันธ์ กล่าวว่า ชาวบ้านอยากให้ปิดเหมืองฟื้นฟู เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบจริง ๆ อยากให้ศาลลงพื้นที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริง ไปดูว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบอะไร ชาวบ้านยินดีพาไปดูสภาพความเป็นจริงในพื้นที่

ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่าในวันนี้ศาลรับเรื่องและจะมีกระบวนการที่ศาลปกครองกลางส่งคำอุทธรณ์และสำนวนคดีไปให้ศาลปกครองสูงสุด เพื่อพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วจะมีคำสั่งมาถึงผู้ฟ้องว่าศาลรับอุทธรณ์คดีหรือไม่ หากรับ กระบวนการต่อไปศาลจะส่งคำอุทธรณ์ทั้งหมดไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งชาวบ้านต้องรอความคือหน้าต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือต่อ ให้ติดตามการที่ร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมือง และติดตามการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเหมืองของหน่วยงานต่างๆ หลังมีคําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 72/2559 ให้บริษัทผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเศ หยุดประกอบกิจการและให้ดำเนินการฟื้นฟูเหมืองในปี 2560 แต่ชาวบ้านพบว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดได้ปฎิบัติงานและเสนอแผนฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง