ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 ปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.กล่าวว่า ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเพิ่มความเข้มข้นเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 โดยแก้ไขคำนิยามและเพิ่มลักษณะความผิดฐานค้ามนุษย์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
นายไมตรี บอกว่า เช่นการบังคับใช้แรงงาน ให้ครอบคลุมถึงการยึดเอกสารสำคัญประจำตัว หรือนำภาระหนี้มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบหรือที่เรียกกันว่า "แรงงานขัดหนี้" รวมถึงเพิ่มโทษจำคุก 1 ปี ต่อโทษปรับ 1 แสนบาท และกำหนดฐานความผิดที่กระทำต่อเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ให้ทำงานหรือให้บริการ อันอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ การเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของบุคคลหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมจัดอบรมให้ความรู้ให้กับตำรวจ ทีมสหวิชาชีพ และเจ้าของสถานประกอบกิจการโรงงาน และสมาคมประมง เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
โดยจะนำร่องจัดอบรมในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล และกระจายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดเพื่อจะได้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ โดยไม่เลือกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน