นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ระบุว่า หลังจากกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเพิ่มจากลิตรละ 20 สตางค์เป็น 4 บาท 89 สตางค์ลิตร ทำให้ต้นทุนน้ำมันโดยรวมทั้งปีเพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท เเละเมื่อคำนวนเเล้วส่งผลทำให้ต้องเก็บจากผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศในอัตรา 150 บาทต่อคนต่อเที่ยว เป็นการคำนวนที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจากนี้ในตั๋วเครื่องบินของผู้โดยสารที่จะต้องจ่ายประกอบด้วย ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าภาษีสนามบิน เเละภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม อัตราที่ปรับขึ้นอาจมีผลทำให้ประชาชนอาจชะลอการเดินทางท่องเที่ยว และเห็นว่าในภาวะที่ธุรกิจการบินยังไม่ค่อยจะดีรัฐบาลควรเก็บภาษีน้ำมันแบบขั้นบันได โดยอาจใช้เวลา 2-3 ปี ทั้งนี้สายการบินยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจำนวนผุ้โดยสารจะลดลงหรือไม่แต่หลังจากนี้คงจะเร่งออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการเดินทางให้ได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่ นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทย ไลอ้อน แอร์ ระบุว่า การปรับขึ้นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 150 บาทต่อคนต่อเที่ยวบิน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.นั้น เชื่อว่าจะมีผลต่อความรู้สึกต่อผู้โดยสารในระยะสั้นเเละไม่ได้ทำให้ผู้โดยสารลดลง หรือหันไปใช้การเดินทางรูปแบบอื่น
นายธีรพล โชติชนาภิบาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ ระบุว่า ค่าน้ำมันที่เพิ่มส่งผลต่อต้นทุน แต่สำหรับการบินไทยถือว่ากระทบไม่มาก เพราะมีเที่ยวบินในประเทศคิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งในขณะนี้การบินไทยจะยังคงไม่ปรับค่าโดยสารในประเทศเพิ่มเติม แต่การบินไทยจะลองบริหารจัดการต้นทุนในส่วนอื่นก่อนที่จะมีการพิจารณาหารือในประเด็นนี้อีกครั้งใน 7-10 วันข้างหน้า
ทั้งนี้ การปรับราคาค่าโดยสารอาจจะกระทบกับเส้นทางการท่องเที่ยวบ้างเพราะนักท่องเที่ยวอาจะเปลี่ยนวิธีการเดินทางรวมถึงจุดหมายปลายทางซึ่งการบินไทยอาจจะหารือกับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางการลดราคาค่าน้ำมันต่อไป