15 วันหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ปรากฏว่าอุทยานฯ แห่งนี้มียอดจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 40 หรือเพิ่มขึ้นวันละกว่า 500,000 บาท จากที่เคยเก็บได้เพียงวันละ 80,000 บาท นี่คือหนึ่งในภาพสะท้อนช่องโหว่ระบบจัดเก็บรายได้ ของอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่หลายภาคส่วนเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา
วัตถุประสงค์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ ตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุชัดเจนว่า เพื่อใช้บำรุงรักษาทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นต้นทุนวิจัยทางวิชาการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาพักผ่อน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบายในการจัดสรรงบประมาณ
แต่จากการติดตามและเก็บข้อมูลของคณะทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่ามีการแบ่งผลประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลออกเป็น 3ส่วน คือ ผลประโยชน์จากค่าเข้าอุทยาน ผลประโยชน์จากสินค้าและร้านสวัสดิการ และผลประโยชน์จากระบบบริการอื่นๆ โดยสปช.ฟันธงว่ามีการทุจริตในทั้ง 3 ส่วนโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อนุกรรมการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สปช. กล่าวว่าในปี 2557 ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธาราฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นประมาณ 100,000 คน แต่รายได้ที่อุทยานฯ เก็บในปี 2556 ได้ 23 ล้านบาท เพิ่มเป็น 26 ล้านบาทในปี 2557
"นักท่องเที่ยวเพิ่มเกือบ 50,000 คน เก็บค่าเข้าอุทยานฯ ได้ 3 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวกับตัวเลขรายได้มีความผิดปกติ ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่อุทยานฯ เดียว แต่เกิดขึ้นหลายแห่ง เราจึงสงสัยว่ามีการตกหล่นของรายได้" ผศ.ธรณ์กล่าว
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง ในฐานะผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่า กรมอุทยานฯเห็นปัญหา และพยายามหาทางออกเรื่องนี้มาตลอด
"ที่ผ่านมา เราเป็นภาครัฐก็จัดเก็บค่าธรรมเนียมด้วยวิธีง่ายๆ คือ พิมพ์บัตรออกมาแล้วก็แจกจ่ายออกไป แต่ยุคนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเรามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้การจัดเก็บแบบเดิมใช้การไม่ได้แล้ว เราต้องคิดวิธีการจัดเก็บออนไลน์ขึ้นมา เช่น ให้นักท่องเที่ยวซื้อตั๋วเข้าชมอุทยานฯ ได้ทางออนไลน์และไปจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อ หรือจองผ่านเว็บไซต์ ข้อดีคือเงินไม่ได้ผ่านมือหัวหน้าอุทยานฯ เลย แต่อย่างไรก็ตามก็คงต้องมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเลย ไม่ได้วางแผนจองตั๋ว ดังนั้นจึงต้องมีสัดส่วนของทั้งสองแบบ" นายประเสริฐกล่าว
การเพิ่มกลไกควบคุมระบบจัดเก็บรายได้ตั้งแต่ต้นทางและการติดตามตรวจสอบตลอดเส้นทาง โดยมีคณะทำงานเฉพาะ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นผู้ตรวจสอบ เป็นสิ่งที่คณะทำงานของ สปช .เชื่อว่า จะหนุนเสริมแผนป้องกันการทุจริต ที่กรมอุทยานเตรียมเดินหน้า ได้อย่างครอบคลุม ท่ามกลางแผนพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
เกาะติดทุจริตค่าธรรมเนียมอุทยานฯ อันดามัน http://news.thaipbs.or.th/andaman