วันนี้ (4 ก.พ.2560) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ เรื่องฝ่าวิกฤตคอร์รัปชันของรัฐบาล ชี้ว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.1 มองว่าการเปิดเผยสินบนโรลส์รอยซ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการบินไทย ปตท. หรือกล้องซีซีทีวีในรัฐสภา ต่างเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีช่องว่าง และเหตุที่ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ร้อยละ 46 เชื่อว่ากฎหมายและกลไกการตรวจสอบ ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ และร้อยละ 59 หรือมากกว่าครึ่งของประชาชนในกลุ่มตัวอย่างนั้น ยังไม่มั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ. 3 ชั่วโคตร หรือ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ จะมีก็แต่เพียงร้อยละ 33.8 ที่เชื่อมั่นมากที่สุด
ส่วนประชาชนร้อยละ 61.3 เห็นด้วยต่อการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น สินบน และการซื้อขายตำแหน่งทางราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่มีกลุ่มประชาชนตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 31.3 แต่โดยภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 67.4 เห็นว่ารัฐบาลมีมาตรการจริงจังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ เรื่องปัญหาหนักอกคนไทย พบว่า 5 ปัญหาหนักอกของคนไทยนั้น ประกอบไปด้วย อันดับที่ 1 คือการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 84.69 อันดับที่ 2 ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 74 อันดับที่ 3 ความเป็นอยู่ที่ยากจน มีหนี้สิน ร้อยละ 71.05 อันดับที่ 4 คือความแตกแยกขัดแย้งของผู้คน ร้อยละ 68.18 และอันดับสุดท้าย คือปัญหาการเมือง ร้อยละ 64.99
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ เห็นควรต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ร้อยละ 79.67 สำหรับความแตกแยกของผู้คนในสังคม ต้องสร้างความเข้าใจ ให้อภัย และหันหน้าเข้าหากัน ร้อยละ 69.70 ขณะที่การแก้ปัญหาทางการเมือง ประชาชนเกือบทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง สะท้อนถึงการสร้างความสามัคคีปรองดองให้มากที่สุด ร้อยละ 81.34