ต้อนรับปีใหม่ คนจนเมืองจะต้องรับมือนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าของทางกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาตรการไม่ให้มีการประกอบการใดๆ บนทางเท้า ส่งผลให้กลุ่มแม่ค้า พ่อค้า รายย่อยที่ขายอาหารอร่อยราคาถูก สินค้าอุปโภคบริโภคที่คุณภาพเดียวกับบนห้างร้านแต่ราคาถูกกว่าอย่างเห็นชัด ไม่สามารถทำมาหากินได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่น่าใจหายในหลายพื้นที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ทำมาหากินมายาวนานกว่า 30 – 40 ปี ได้ ถือเป็นอาชีพหลักของครอบครัว แต่เมื่ออาชีพหลักไม่สามารถทำได้ส่งผลตรงต่อครอบครัวที่ต้องขาดรายได้เจือจุน
กรุงเทพมหานครเองคงวาดหวังให้ประชากรคนกรุงเทพฯได้ไปใช้บริการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ตามห้างร้านในราคาแพง เพราะมีมาตรการรื้อย้าย แต่ไม่มีมาตรการรองรับใดๆจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งดูแล้วเหมือนดั่งเป็นลักษณะพื้นฐานของหน่วยงานนี้ยิ่งนัก เพราะนอกจากไล่ไม่ให้มีการทำมาหากินบนทางเท้า (ที่เคยเป็นจุดผ่อนผันมาแล้ว) ยังมีนโยบายไล่รื้อชุมชนอีกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะที่ กทม. ดูแล และแน่นอน กทม. ไม่มีแผนรองรับสำหรับผู้ที่จะไร้ที่อยู่อาศัยหลายร้อยครอบครัว
มองต่อถึงนโยบายรัฐบาล คงหมดโปรโมชั่น ลดแหลก แจก แถม ของรัฐบาลไปแล้ว หลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนสิ้นปี 2559 ไม่ว่าจะแจกเงินให้คนจน 1,500 – 3,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ หรือช๊อปช่วย(ห้าง)ชาติ แล้วนำเอาใบเสร็จจากการซื้อขายมาลดภาษีได้นั้น เข้าปีไก่ 2560 โปรโมชั่นต่างๆได้หมดลงแล้ว และคงเริ่มโหมดการหารายได้เข้าคลังกันแล้ว
มาตรการนี้มาพร้อมกับการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ไม่ได้เป็นข่าวฮือฮาหน้าสื่อสักเท่าไหร่นัก แต่เนื้อหาใน พรบ. นั้น ไม่ธรรมดาเลย จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายครัวเรือนกันอย่างถ้วนหน้า โดยการปรับค่าธรรมเนียมเก็บขยะรายเดือนมาเป็นเดือนละ 150 บาทต่อหน่วย ( หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร ) จากที่เคยจ่ายกันเดือนละไม่กี่สิบบาท
อีกทั้งในระเบียบแก้ไขเพิ่มเติมใหม่สำหรับผู้ที่เป็นคนกำจัด หรือเก็บ หรือจะมาหาประโยชน์ จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแสนแพง (หากจะทำครบวงจรจะต้องจ่ายให้ท้องถิ่นร่วม 110,000 บาท เลยทีเดียว) ซึ่งสิ่งนี้เองไม่แน่ชัดว่าการตีความคนที่ทำลักษณะดังกล่าวถูกเหมารวมไปถึงกลุ่มคนขับซาเล้งเก็บของเก่าในชุมชน หรือคนไร้บ้านที่เดินถือถุงเก็บขยะ ที่เป็นอาชีพในการประทังชีวิต ด้วยหรือไม่
หากมองดูผ่านๆการออกระเบียบแบบนี้ดูเหมือนจะเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่ถ้าจะมองโดยละเอียดตามข้อเท็จจริงโครงสร้างสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำในทุกด้านเป็นอย่างมาก ระเบียบเหล่านี้ดูจะไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มรากหญ้า รายได้น้อย สักเท่าไรนัก เงิน 150 บาทต่อเดือนในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปอาจจะดูเป็นจำนวนที่พอไหวในการจ่าย แต่หากมองถึงกลุ่มคนจนทั้งในเมือง และชนบท เป็นจำนวนเงินมากพอสมควรที่จะมาเป็นภาระรายครัวเรือนกันทุกเดือน บางครัวเรือนค่าน้ำ – ค่าไฟฟ้า ยังใช้จ่ายไม่ถึง 150 บาทด้วยซ้ำ อีกทั้งกลุ่มคนจนเหล่านี้เป็นกลุ่มประชากรที่ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด มิหนำซ้ำยังเป็นกลุ่มที่ใช้กระบวนการรีไซเคิลขยะที่ไม่ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงดูไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนเหล่านี้นัก ตรงกันข้ามกลุ่มที่ทำให้เกิดขยะตั้งแต่ต้นทางการผลิตกลับจ่ายรายเดือนเกือบเท่ากับครัวเรือนทั่วไปคือ 200 บาทต่อเดือนต่อหน่วย
หลักคิดนี้แทบจะอธิบายได้เลยว่าทางรัฐบาลกำลังคิดอะไรอยู่กับปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งที่รู้ว่าสถานการณ์ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประชาชนในปัจจุบันยังไม่สู้ดีมากนัก ( ซึ่งรัฐบาลก็รู้อยู่แก่ใจจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 59) แต่ยังออกมาตรการในการหารายได้เข้ารัฐแบบ “ซ้ำซ้อน” ขึ้นมา เพราะบริการขั้นพื้นฐานแห่งรัฐ ควรจะจัดอยู่ในภาษีที่มีการเก็บกับประชาชนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน เพราะเป็นมาตรการที่ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่แล้ว นอกจากจะเป็นการเก็บซ้ำเก็บซ้อนยังเป็นการผลักภาระมาที่กลุ่มคนจนเป็นหลัก
ปริมาณการผลิตขยะที่ธนาคารโลกเผยแพร่ไว้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ประชากรโลกช่วยกันผลิตขยะถึง 1,300 ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่าเราผลิตขยะถึงวันละ 1 กิโลกรัมต่อคน นอกจากนี้ยังประมาณการว่าภายในปี 2025 ปริมาณขยะจะสูงถึง 2,200 ล้านตัน หรือ 1.4 กิโลกรัมต่อคน ส่วนในประเทศไทย ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2558 คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน หรือมากถึง 77 ล้านตันต่อปี
ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหันมาเน้นการรีไซเคิล อาทิ เยอรมนี เกาหลีใต้ และออสเตรีย โดยพบว่าจากจำนวนขยะทั้งหมด มีขยะหลงเหลือเพื่อนำไปฝังกลบไม่ถึง 50% ขยะที่เหลือถูกแปรรูปโดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายด้านการรีไซเคิลอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หน้าที่จัดการขยะส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ที่อาชีพคนเก็บของเก่า ในอียิปต์ อาชีพคนเก็บของเก่าในเมืองไคโรห์ สามารถนำขยะกว่า 80% หรือ 2,000 ตัน เข้าสู่ระบบการรีไซเคิล ส่วนในบราซิล แม้ปริมาณการนำขยะกลับมารีไซเคิลมีเพียง 2% แต่ในจำนวนนี้ มาจากการคัดแยกของคนเก็บของเก่าเป็นหลัก การทำงานของคนอาชีพนี้ นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีฐานะยากจนอีกด้วย ส่วนภาพรวมของการรีไซเคิลในบ้านเราจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 89 ของขยะที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลนั้น ก็เกิดจากการคัดแยกและนำกลับมารีไซเคิล ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยศูนย์วัสดุรีไซเคิลชุมชน ธนาคารขยะรีไซเคิล ขายให้ผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้รับซื้อของเก่าเป็นกลุ่มอาชีพสำคัญที่ช่วยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำขยะกลับเข้ามาสู่ระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ( ที่มา http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634520 )
ข้อมูลข้างต้นคือการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการรีไซเคิลสิ่งที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งควรให้คุณค่ากับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่นโยบายดังกล่าวกลับมองข้ามจุดนี้ไป ทำให้กลุ่มที่ช่วยลดขยะ กลุ่มที่นำขยะกลับมาใช้ใหม่ ต้องจ่ายค่าบริการพื้นฐานของรัฐในการกำจัดขยะมูลฝอย เกือบเท่ากับโรงงานที่เป็นต้นน้ำของขยะ ตอกย้ำความเหลื่อล้ำทางสังคมเพิ่มเติมเข้าไปอีก
หากรัฐบาลยังมีความคิดที่จะให้น้ำหนักกับประชาชนรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย อยู่นั้น จะต้องทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของโครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยอาจจะต้องดูตามจริง เช่น
- กลุ่มที่เป็นต้นเหตุให้เกิดขยะ เช่น ผู้ประกอบการ โรงงานต่างๆ
- กลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากขยะให้เกิดอย่างสูงสุด เช่น ผู้ประกอบอาชีพเก็บของเก่า
- กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดขยะอยู่กับธรรมชาติ เช่น ชาวชนบท เกษตรกร ชนพื้นเมือง ชนเผ่า ต่างๆ
กลุ่มที่เป็นสาเหตุหลักให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นในสังคมควรจะต้องแบกรับภาระในการจ่ายเข้ารัฐในการจัดเก็บ ทำลาย ขยะมูบฝอยเหล่านั้น กลุ่มที่ดำรงชีวิตไม่ก่อให้เกิดขยะ มูลฝอย ไม่ควรจะใช้มาตราการนี้กับเขาเหล่านั้น และกลุ่มที่นำขยะต่างๆกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ หรือดำเนินการให้ขยะลดลง ควรจะให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการของกลุ่มคนเหล่านั้น เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลในการจัดการขยะ หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มาตรการการเก็บเงินกับประชาชนเพิ่มขึ้น เป็นมาตรการสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ถึงความเหมาะสม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลเคยออกมาตรการประชารัฐแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย ออกมาตราการซื้อของมาลดภาษีเงินได้กับชนชั้นกลาง แต่ท้ายสุดปลายทางของทุกมาตรการได้ไหลมาสู่ทุนใหญ่ไม่กี่บริษัท และไม่ได้เป็นนโยบายที่ยั่งยืน แต่มาตรการเพิ่มค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ มูลฝอยที่เพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว ภาระใหญ่ก็มาตกต่อกลุ่มประชาชนชนชั้นล่างแบบต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากการนโยบาย แจก ลด ที่มีมาครั้งเดียวและไม่รู้จะมีมาอีกเมื่อไหร่
นี่เองจะเห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการจะหารายได้ให้กับรัฐ ล้วนแล้วแต่ใช้ประชาชนคนยากจนเป็นกลไกในการทำให้สำเร็จ เพราะเนื่องจากคนยากจนในปะเทศไทยมีจำนวนมหาศาลสามารถเป็นตัวแทนรัฐกระจายเงินเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้ และมุมกลับก็สามารถดึงเงินจากคนยากจนมาได้มากเช่นเดียวกัน ฉะนั้นรัฐควรจะให้ความเคารพและให้ความสำคัญกับกลุ่มคนยากจน และคนยากจนก็ไม่ควรจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของรัฐผ่านสู่กลุ่มทุนผูกขาด คนยากจนจะต้องสามารถกำหนดทิศทางชีวิต อนาคตของตนเองได้เช่นกัน
บทความ : คมสันติ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายสลัม 4 ภาค