วันนี้(9 ก.พ.2560) นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ช่วงเวลาประมาณ 05.34-09.53 น. ตามเวลาในประเทศไทย แม้จันทรุปราคาเงามัวครั้งนี้จะกินเวลานานถึง 4 ชั่วโมง 19 นาที แต่ในประเทศไทยดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 06.42 น. เราจึงมีเวลาสังเกตการณ์จันทรุปราคาเงามัวในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 05.34-06.40 น. เท่านั้น โดยเงามัวจะบังมากที่สุดในเวลาประมาณ 07.43 น.
ทั้งนี้ หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะสังเกตได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงดวงจันทร์ใกล้ตกลับขอบฟ้า ดวงจันทร์จะปรากฏใกล้ขอบฟ้ามากทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งของการสังเกตการณ์จันทรุปราคาเงามัวในครั้งนี้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือการถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับ ในปี 2560 ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นประเทศไทยจะเกิดขึ้นอีกครั้ง คือ “จันทรุปราคาบางส่วน” ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 7 สิงหาคม ถึงเช้ามืดของวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 00.22 น. และสิ้นสุดเวลา 02.18 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 01.20 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเพียงเล็กน้อย ขณะที่ จันทรุปราคาเต็มดวงจะกลับมาให้คนไทยชมอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้ง ในปีเดียวกัน ได้แก่วันที่ 31 มกราคม และ 28 กรกฎาคม 2561