รายได้การท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ สูงถึงปีละ 65,000 ล้านบาท นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว กระบี่ยังมีรายได้จากเกษตรกรรมถึงปีละ 30,000 ล้านบาท ทำให้ภาคเอกชนของจังหวัดกระบี่ เห็นร่วมกันว่าต้องยกระดับการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลก บนพื้นฐานความเข้มแข็งของภาคเกษตรและชุมชน
เมื่อเดือน มิ.ย.2556 ภาครัฐและภาคธุรกิจได้ร่วมลงนามในปฏิญญาการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สู่ความยั่งยืนจนนำมาสู่ยุทธศาสตร์ กระบี่ Go Green ที่ไม่ได้แค่มองเรื่องพลังงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่หัวใจก็คือ เรื่องของฐานรากทั้งในเรื่องของการเกษตร ประมง และวิถีชุมชน นำมาสู่ข้อเสนอต่อภาครัฐที่ต้องการให้กระบี่พิสูจน์ว่าสามารถใช้พลังงานทดแทนจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน
นายอัจฉริยะ นพรัตน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจังหวัดกระบี่ มองว่า การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรม สร้างมูลค่านับพันล้านบาท และยังควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ด้านนาย ธีระพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ มองว่า ที่ผ่านมาทิศทางการพัฒนาทุกอย่างของกระบี่ ยึดในหลักของกระบี่ Go Green มาโดยตลอด ซึ่งหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของโลก ปัจจุบันไม่ใช่เพียงจากกลุ่มสแกนดิเนเวีย และยุโรปเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีธุรกิจโรงแรมในกระบี่ที่เข้าร่วมยุทธศาสตร์กระบี่ Go Green กว่า 400 แห่ง ซึ่งมีมาตรการลดใช้พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการแยกขยะ และใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมี เกาะลันตา เป็นพื้นที่แรก ที่มีเป้าหมายให้เป็น กรีน ไอส์แลนด์ ที่ส่งเสริมให้ผู้คนบนเกาะลันตาดำเนินชีวิตและธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการรวมตัวกันเป็น กระบี่กรีนเน็ทเวิร์ค เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
ความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพวกเขากำลังถูกท้าทายด้วยโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน รายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านบาทต่อปี อาจได้รับผลกระทบจากการถูกลดทอนความเชื่อมั่นเพราะมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน