พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทางเลือก ถูกพูดถึงในเวทีโลกมาอย่างต่อเนื่องในยุโรป และ อเมริกาเหนือเช่น อังกฤษ ก็หันมาใช้พลังงานลม แต่เมื่อหันกลับมามองในอาเซียน ปรากฎว่า การใช้พลังงานอย่างถ่านหิน กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นี่จึงเป็นคำถามว่า การใช้พลังงานสะอาดจะไม่มีบทบาทหรือไม่ โดยเฉพาะไทย ที่กำลังหาคำตอบกับอนาคตด้านพลังงานทางเลือก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แนบบุญ ยังระบุว่า แผนพลังงานสะอาดของไทย เป็นแผนที่พัฒนามาควบคู่กับแผนใหญ่ซึ่งในปี 2579 ปีสุดท้ายของแผน จะมีพลังงานหมุนเวียนทางเลือกที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ร้อยละ 18 ส่วนถ่านหินร้อยละ 17 นิวเคลียร์ร้อยละ 6 ถ่านหินลิกไนต์ร้อยละ 17 และพลังงานน้ำต่างประเทศ ร้อยละ 15 และก๊าซธรรมชาติร้อยละ37
แต่หากจะถามว่า "พลังงานอะไรเหมาะสมที่สุด" ถือเป็นคำตอบที่ยาก เพราะต้องพิจารณา ทั้งบริบทเชิงพลังงาน เศรษฐศาสตร์ สิ่งเเวดล้อม และชุมชน แต่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะให้การใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีความหลากหลาย ถ้าสัดส่วนการใช้ถ่านหินร้อยละ 20-25 จะช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในระดับประเทศหรือภูมิภาค
ส่วนพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ความร้อนใต้ภิภพและอื่นๆเป็นนโยบายสนับสนุน
ส่วนกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ มีความเหมาะสมหรือไม่ต้องฟังเสียงทุกฝ่าย และต้องแบ่งโจทย์เป็น 2 ระดับ ทั้งภาพรวมระดับประเทศ และ ชุมชน โดยหาข้อมูลองค์ความรู้ ข้อดี ข้อเสีย ข้อกังวล ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมแผนรองรับ
สำหรับการลดการใช้ถ่านหิน เชื่อว่า แต่ละประเทศมีการพิจารณาในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ ดังนั้นจึงมีกระเเสของสังคมโลกในการให้ลดการใช้ถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง
สำหรับโรงไฟฟ้าที่กระบี่ มีเเนวคิดเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าระดับประเทศ และจะมีการนำเทค โนโลยีสะอาดมาใช้ แต่นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึง สิ่งสำคัญ คือ ความต้องการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองกลุ่มใด หากเป็นเพียงระดับชุมชน จะเห็นได้ว่า มีกลุ่มผู้ใช้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองแล้ว ซึ่งในอนาคตก็จะได้เห็นมากขึ้น แต่หากความต้องการใช้ไฟเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็ต้องสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้ได้