ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ออกแถลงการณ์ยื่น 4 ข้อ ปรับรูปแบบ EIA-EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 60
15:45
1,232
Logo Thai PBS
เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ออกแถลงการณ์ยื่น 4 ข้อ ปรับรูปแบบ EIA-EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ พร้อมยื่น 4 ข้อเสนอในการจัดทำ EIA-EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ โดยต้องตั้ง คณะกรรมการกลางในการจัดทำรายงาน โดยรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อมด้วย มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีทางได้เกิดที่ จ.กระบี่

วันนี้ ( 22 ก.พ.2560) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องอันดามัน ออกแถลงการณ์ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำ EIA และ EHIA ใหม่ กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 3 / 2560

ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ EIA และ EHIA ใหม่ กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ถ้า EIA ทำไม่ได้ ก็ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ รวมถึงให้ทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงการดำเนินโครงการ หรือ EHIA เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยรัฐบาลได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงเข้ามาดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมีข้อเสนอเพิ่มตามที่ได้เจรจากับผู้แทนรัฐบาลคือแม่ทัพภาคที่1 ว่าต้องมีการจัดทำรายงานในรูปแบบใหม่ที่ยุติธรรมตรงตามหลักวิชาการ ดังนี้

1.ในกระบวนการจัดทำครั้งใหม่นี้ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พศ.2535 คือเป็นการจัดทำเพื่อประเมินทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมของพื้นที่ โดย มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางขึ้นมาชุดหนึ่งทำหน้าที่กำกับกระบวนการทั้งหมด และให้หน่วยงานนิติบุคคลที่มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงานไม่ใช่ให้ กฟผ.จ้างบริษัทมาดำเนินการจัดทำเหมือนรูปแบบเดิมที่ผ่านมา

2.ในด้านเนื้อหาการจัดทำต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้
2.1 การจัดทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) ให้แน่ใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสอดคล้องและอยู่ร่วมกับแผนพัฒนากระบี่ 2020 ต้องมีการประเมินทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า อื่นๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล แสงอาทิตน์ ลม) ในระดับที่มีรายละเอียดเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินและประเมินผลกระทบทั้ง 3 มิติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และ สังคม)

2.2 ต้องทำการประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลขในรูปต้นทุนภายนอก (Externality) หากไม่มีมาตรการลดผลกระทบ โดยต้องบอกได้ว่าภาคส่วนใดถูกผลักภาระต้นทุนภายนอกนี้ไป ทั้งนี้ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศ (Ecological Service) ไว้ด้วย

2.3 การดำเนินการคำนวณต้นทุนภายนอก (Externality) ควรอิงงานวิจัย โดยใช้นักวิจัยที่เป็นกลาง และ น่าเชื่อถือทางวิชาการ มีเอกสารอ้างอิง หรือ เป็นวิจัยตรงในพื้นที่ โดยให้นักวิชาการจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง

2.4 เมื่อกำหนดมาตรการลดผลกระทบแล้วต้องประเมินความเสียหายออกมาเป็นค่าตัวเลข (มูลค่าบาท) (Externality) และ ต้องบอกได้ว่าใครที่จะได้รับผลกระทบนี้ไป ทั้งนี้ต้องรวมต้นทุนเชิงนิเวศ (Ecological Service) ไว้ด้วย และ ต้องมีการซื้อประกันความเสี่ยงกับธนาคารหรือสถาบันเอกชนที่ขายประกันเท่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีมาตรการลดผลกระทบแล้ว โดยให้เน้น ภาคประมง ท่องเที่ยว และ เกษตรกรรม

2.5 ต้องเอาต้นทุนภายนอกที่ต้องทำการประกันนี้ไปรวมกับต้นทุนภายใน และ ใช้ประกอบการประเมินว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะคุ้มทุนหรือไม่โดยต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องของการประเมิน

3.ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นนอกจากอยู่ในคณะกรรมการแล้วจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรัฐต้องไม่ใช้อำนาจฝ่ายปกครองในการเกณฑ์คนมาสนับสนุน ฝ่ายความมั่นคงจะต้องไม่ใช้กองกำลังมากีดกันผู้เห็นต่างอย่างที่เคยเกิดขึ้น

4.การจัดทำรายงานครั้งนี้จะต้องเป็นรายงานที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ ไม่ใช่การจัดทำรายงานในพื้นที่ปกติทั่วไป ซึ่งต้องมีรายละเอียดการประเมินจำนวนมาก โดยรายงานทั้ง 2 ฉบับ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหิน ต้องใช้เวลาจัดทำตามระบบนิเวศจริง นั่นคือระยะเวลาจัดทำต้องมากพอในการศึกษารายละเอียดการประเมินแต่ละประเด็น โดยอาจต้องใช้เวลาการประเมินแต่ละฉบับไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินยืนยันว่าหากดำเนินการจัดทำรายงานตามหลักวิชาการ โรงไฟฟ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าพื้นที่ใดในโลก เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบได้ มิพักต้องพูดถึงว่ากระบี่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ (แรมซ่าไซด์) และเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีระบบนิเวศสวยงามสมบูรณ์ 1 ใน 10 ของโลก โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีทางเกิดขึ้นบนแผ่นดินกระบี่โดยเด็ดขาด

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

22 กุมภาพันธ์ 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง