ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจพบ “เนื้อหมู” ในตลาดยังปนเปื้อนยาฏิชีวนะ

สังคม
15 มี.ค. 60
10:30
1,285
Logo Thai PBS
ตรวจพบ “เนื้อหมู” ในตลาดยังปนเปื้อนยาฏิชีวนะ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจสอบเนื้อหมู 15 แห่ง จากตลาดสดและขายผ่านระบบออนไลน์ พบ 2 แห่งในตลาดชื่อดังย่านสะพานใหม่และบางแคยังมียาปฏิชีวนะ แต่ไม่เกินมาตรฐาน ส่งข้อมูลให้กรมปศุสัตว์และอย. ตรวจสอบ

วันนี้ (15 มี.ค.2560) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเนื้อหมูผ่านตลาด ห้างค้าปลีก และการสั่งซื้อเนื้อผ่านออนไลน์ จำนวน 15 แห่ง โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังพบเนื้อสุกรจากตลาดเพียง 2 แห่งคือ ตลาดยิ่งเจริญและตลาดบางแค ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะแต่ไม่เกินมาตรฐาน

แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็มีโอกาสทำให้เกิดเชื้อดื้อยา จึงจะส่งข้อมูลให้กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลต่อ รวมทั้งจะแจ้งไปยังเจ้าของตลาดทั้ง 2 แห่ง เพื่อหาต้นตอว่าเนื้อสัตว์นั้นมาจากฟาร์มไหน เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงบริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดขนาดใหญ่ 5 แห่งในประเทศไทย เพื่อขอให้มีการประกาศนโยบายใช้เนื้อสัตว์ที่ปลอดยาปฏิชีวนะ แต่มีเพียงบริษัทเดียว ที่ตอบกลับอย่างไม่เป็นทางการ ว่ายินดีที่จะดำเนินการ ซึ่งหากบริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดขนาดใหญ่ มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ออกข้อกำหนดงดใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะก็จะมีอิทธิพลกำหนดให้ฟาร์มเนื้อสัตว์ต่างๆ ปฏิบัติตามได้

การเปิดเผยผลการตรวจสอบครั้งนี้ มีขึ้นในงานสัมมนา "ผู้บริโภคและการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล" ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ พบว่าปัจจุบันมีเชื้อดื้อยามากขึ้น รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อลดการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยา ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ และประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นภายใน 5 ปี ทั้งในแง่การเฝ้าระวัง การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพ การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไป เป็นเหตุให้เกิดอาการดื้อยา ซึ่งการรับยาปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกาย ไม่ได้มาจากการรับทางตรงอย่างการกินยาเท่านั้น เพราะการรับทางอ้อมผ่านเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ยาเข้าไปสะสมในร่างกาย เพิ่มโอกาสการดื้อยาได้

ที่ผ่านมามีการรณรงค์และควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกร แต่จากการสุ่มตรวจสอบโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ยังพบเนื้อสุกรที่จำหน่ายในตลาดบางแห่ง มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง