วันนี้ (15 มี.ค.2560) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เปิดเผยภายหลัง ศาลฏีกาพิพากษารอกำหนดโทษ 2 ปี คดีบุกรัฐสภา ว่า จะขอยุติบทบาทกรรมการ กสทช.ตั้งแต่วันนี้ โดยจะทำบันทึกแจ้งถึงนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เพื่อให้ตีความว่า ตนเองยังสามารถดำรงตำแหน่ง "กรรมการ กสทช." ได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวตีความว่า คำพิพากษาของศาลฏีกา มีผลต่อคุณสมบัติการเป็น กรรมการ กสทช. ตามาตรา 7 (7) ว่าต้องไม่เคยต้องคำพิพากษา
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ต้องเสนอที่ประชุมใหญ่ กสทช.ซึ่งจะมีการประชุม วันที่ 22 มี.ค.นี้ หากบอร์ด กสทช.และฝ่ายกฎหมายตีความว่า ไม่ขัดคุณสมบัติ จึงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะกลับมาทำหน้าที่หรือไม่
"ระหว่างนี้ขอยุติการทำหน้าที่ กรรมการ กสทช.ไปก่อน ในระหว่างการรอฝ่ายกฎหมาย กสทช.ตีความ โดยระหว่างนี้จะหยุดงานที่ต้องเซ็นอนุมัติทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้มีผลผูกพัน หรือมีปัญหาตามมาในภายหลัง รวมถึงเงินเดือน เดือนละ 2.6 แสนบาท และค่าตอบแทนต่างๆ ก็จะขอรับถึงเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.60) สิ่งที่เป็นห่วง คือ การทำหน้าที่ของบอร์ด กสท.ที่ขณะนี้เหลืออยู่ 3 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คน ว่าจะเป็นไปในทิศทางอย่างไร หรืออาจต้องยุบรวมบอร์ดหรือไม่"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบส่วนใหญ่ของ น.ส.สุภิญญา เกี่ยวกับด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ยังมีประเด็นต้องผลักดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค การผลักดันโทรทัศน์ชุมชน
สำหรับ น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ เริ่มทำงานที่บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จากนั้นเข้าทำงานที่ฝ่ายเผยแพร่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเป็นผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามมาตรา 40 นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธาน (คปส.) และผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
เมื่อปี 2546 บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ฟ้อง น.ส.สุภิญญา คดีหมิ่นประมาทคดีอาญาในฐานะจำเลยที่ 1 และปลายปี 2547 น.ส.สุภิญญา ถูกฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาท เนื่องจากให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนายทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย และบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น โดยศาลตัดสินยกฟ้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2549 โดยเห็นว่าสุภิญญาให้สัมภาษณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการต่อสู้กับบริษัทชินคอร์ป ทำให้ น.ส. สุภิญญา เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการแทรกแซงสื่อสมัยรัฐบาลทักษิณ
ก่อนหน้านี้ น.ส.สุภิญญา เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @supinya โดยระบุว่า ตนเองน้อมรับคำพิพากษาสูงสุดของศาลฎีกา แม้จะยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งศาลไม่ได้กำหนดโทษจำคุก แต่พิพากษาว่าตนเองกระทำความผิด จึงขอหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนและไม่รับค่าตอบแทน
อย่างไรก็ตาม หากมีการตีความว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดกับคุณสมบัติ ตนเองก็จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ กสทช. แต่ถ้าขัดคุณสมบัติก็ถือว่าสิ้นสภาพ กสทช.ตั้งแต่วันนี้