วานนี้(19มี.ค.2560) นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เปิดเผยว่า จากการดำสำรวจใต้น้ำ ของนักดำน้ำอาสาสมัคร บริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะยูง ซึ่งเคยมีสภาพเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว จนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องประกาศปิดพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี 2558 โดยห้ามทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว
ล่าสุดพบว่าแนวปะการังมีการฟื้นตัว และมีสภาพสมบูรณ์ขึ้น มีปะการังวัยอ่อนเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยพบปะการังโคโลนีเก่าเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น และยังพบปะการังเขากวางเกิดใหม่ ที่มีสภาพสมบูรณ์ จึงต้องปิดเกาะยูงต่อเนื่อง เพื่อให้ปะการังฟื้นตัวเป็นแหล่งพ่อพันธุ์ปะการัง และเป็นแหล่งศึกษาวิจัยปะการังของนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ปะการัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาพมุมสูงแสดงให้เห็นแนวปะการังบริเวณเกาะยูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพีพี ในต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ทอดตัวเป็นแนวยาวตามแนวชายหาด ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงผลของการปิดพื้นที่เกาะยูง ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาอุท ยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี ซึ่งดำเนินโครงการพีพีโมเดล ได้เขียนข้อมูลในเฟชบุ๊ก ระบุว่าวันนี้ นั่งอยู่กับหัวหน้าพีพี เราอยู่ริมทะเล และเราทั้งคู่กำลังยิ้ม ภาพที่ทีมงานอุทยานสำรวจมา ข้อความที่รายงานมา ทำให้เราทั้งคู่ยิ้ม แนวปะการังที่แทบไม่เหลือเศษซากเมื่อ 2 ปีก่อน วันนี้กลับเป็นดงปะการัง และที่สำคัญ พวกเธอเป็นดงปะการังเขากวาง ปะการังที่แทบไม่เหลือแล้วพวกเธอกำลังกลับมาพีพี
ดร.ธรณ์ ระบุเมื่อเราปิดเกาะ และเข้มงวดจริงจัง ปะการังสามารถฟื้นฟูเองและกลับมาได้ ในระยะเวลาไม่นานเกินรอ ดังนั้นเขตสงวนรักษาฟื้นฟู ที่มีอยู่ในตำราการจัดการอุทยานทางทะเล มีความหมาย และสามารถส่งผลได้จริง นอกจากนี้ เราไม่จำเป็นต้องปิดทุกเกาะ เราสามารถใช้วิธีการต่างๆ ได้ แต่การลดจำนวนนักท่องเที่ยวจนถึงการปิดเกาะ เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้และได้ผลจริง ส่วนปลูกปะการังเป็นเรื่องดี แต่บางทีเราสามารถเก็บรักษาและปล่อยให้ทะเลฟื้นฟูตัวเอง โดยไม่ต้องเสียงบประมาณมากมาย ขอเพียงเราตั้งใจและทำจริง