ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมอนามัยเดินหน้าใช้ฟลูออไรด์ผสมนมโรงเรียนแจก 12 จังหวัด

สังคม
22 มี.ค. 60
12:21
1,133
Logo Thai PBS
กรมอนามัยเดินหน้าใช้ฟลูออไรด์ผสมนมโรงเรียนแจก 12 จังหวัด
กรมอนามัยพบปัญหาใหญ่เด็กไทยมีปัญหาฟันผุเกินร้อยละ 50 ยอมรับยังทำได้ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เดินหน้าใช้ฟลูออไรด์ผสมนมโรงเรียนแจก 12 จังหวัด

วันนี้ (22 มี.ค.2560) นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ขยายโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุครอบคลุมนักเรียนประมาณ 1.6 ล้านคน ใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชุมพร ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ชลบุรี กระบี่ พัทลุง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ให้การฝึกอบรมวิธีผลิตนมฟลูออไรด์แก่โรงนมทั้งหมดจำนวน 26 แห่ง ที่เข้าร่วมการผลิตนมฟลูออไรด์รองรับนักเรียนในโครงการ เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ดื่มนมฟลูออไรด์ ภายใต้โครงการอาหารเสริมในโครงการนมโรงเรียน โดยจะส่งผลในด้านการส่งเสริมสุขภาพนักเรียนและเด็กก่อนวัยเรียน และประสิทธิผลในการลดการเกิดโรคฟันผุ

จากข้อมูลสุขภาพช่องปากคนไทยปี 2555 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี มีปัญหาฟันผุร้อยละ 51.7 หรือมีฟันผุเฉลี่ย 2.7 ซี่ต่อคน ขณะที่เด็กอายุ 5 ปี มีปัญหาฟันผุ ร้อยละ 78.5 หรือมีฟันผุเฉลี่ย 4.4 ซี่ต่อคน สำหรับเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาการของฟันผุนอกจากจะสร้างความเจ็บปวด การติดเชื้อ และปัญหาการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพ รวมไปถึงผลกระทบต่อการเรียน

กรมอนามัยได้เริ่มโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุตั้งแต่ปี 2543 โดยร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิ The Borrow Foundation ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มจากการดำเนินการในกรุงเทพมหานคร

นพ.ณัฐพร กล่าวว่า กรมอนามัยพบว่าการดื่มนมฟลูออไรด์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี สามารถลดการเกิดโรคฟันผุได้ร้อยละ 34.4 เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ โดยปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีความปลอดภัย ไม่พบผลเสียเรื่องฟันตกกระ และการพัฒนานมฟลูออไรด์ยังต้องทำควบคู่กับระบบการกำกับ เฝ้าระวัง พัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่การผลิตในโรงนมไปจนถึงการจัดส่งถึงนักเรียน และการฝึกปฏิบัติด้านเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ฟลูออไรด์ในนม เพื่อให้ได้นมฟลูออไรด์ที่ผลิตอยู่ในมาตรฐาน มีประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุ ส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง