“นี่ย่อมหมายถึงประชากรที่เข้าจะสู่กำลังแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้จะมีจำนวนลดลง” ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNGPA) กล่าวด้วยความเป็นห่วงขณะร่วมหาทางออกในเสวนาหัวข้อ “Work-Life Balance สไตล์ CEOs” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ยิ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมากขึ้น เมื่อสำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ครอบครัว การเกิดและคุณภาพประชากรว่า หญิงชายที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุจากผู้หญิงขาดแรงจูงใจและขาดนโยบายที่สร้างสมดุลให้กับตัวเองระหว่างการมีครอบครัว มีลูก และความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
“หากผู้หญิงมีหลักประกันว่า การตั้งครรภ์จะไม่ใช่จุดเปลี่ยนของอาชีพการงาน อัตราการเกิดของประเทศไทยอาจจะไม่ลดลง” ดร.วาสนา กล่าว
ฟังเสียง CEOs หาวิธีสร้างสมดุลชีวิต
อัตราการเกิดที่น้อยประกอบกับสังคมที่จะมีแต่คนชรา จึงเป็นโจทย์ที่หาทางออกไม่ง่ายในยุคไทยแลนด์ 4.0 การจัดการเรื่องงานกับครอบครัวจึงต้องทำอย่างสมดุล การพูดคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จทั้ง 2 เรื่องจึงเริ่มขึ้น
“ตอนมีลูกก็ตกลงกับภรรยาว่า จะช่วยกันดูแล เพราะภรรยาที่เป็นพนักงานธนาคารก็ทำงานหนัก โชคดีที่มีคุณแม่ช่วยดูแล การมีลูกก็เหมือนมีโปรเจกค์ที่ต้องช่วยกัน” เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแชร์ประสบการณ์
เขากล่าวแนะนำว่า คนที่จะตัดสินใจมีลูกต้องคิดให้ไกล ถ้าคิดจะสร้างครอบครัว อาจจะยาก แต่การมีลูกส่วนสำคัญที่สุด คือครอบครัว ถ้าเราสามารถประคับประคองชีวิตคู่ไปได้ตลอดรอดฝั่งถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด จะทำให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ เพราะถ้าครอบครัวดี ลูกจะเห็นคุณค่าที่อยากจะสร้างครอบครัว
“สังคมต่อจากนี้จะเป็นงานที่ใช้สมองมากกว่าใช้แรงงาน เราอาจจะทำงานที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีแล็บท็อปและอินเทอร์เน็ต นี่จึงเป็นเหตุผลที่เปิดโอกาสให้คนมีทางเลือกมากขึ้น” เจน กล่าวในฐานะซีอีโอ
ส่วน “บอย หรือ ชีวิน โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงรักระดับต้นของเมืองไทย เขามีทั้งสถานะเป็นคุณพ่อลูก 2 และเป็นผู้บริหารเลิฟอิส จำกัด จึงไม่แปลกที่เขาให้ความสำคัญกับครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนงานมาเป็นรอง
“ก่อนแต่งงานคุยกับภรรยาว่าจะเก็บเกี่ยวความรัก เราจึงลงทุนกับครอบครัวด้วยการให้ความรัก ให้เวลา ส่วนงานเราก็ลงทุนด้วยการให้ความรักและให้เวลาเช่นกัน แต่มาคิดว่า ตอนใกล้ตายใครจะนั่งเฝ้าเรา สุดท้ายลูกเราจะนั่งเฝ้าไข้เรา การมีลูกช่วยให้เราประคองกันไปได้ เพราะว่าลูกเป็นกระดาษทรายคอยขัดให้เรารักกันโดยไม่มีเงื่อนไข” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของครอบครัว
ส่วนการบริหารงานเขาบอกว่า ก็ให้ความสำคัญกับลูกน้อง โดยพยายามบอกให้ทุกคนให้ความสำคัญกับครอบครัว “เพราะถ้าครอบครัวเขาเจ๊ง บริษัทผมก็เจ๊ง” เขากล่าวติดตลก
การพูดคุยสนทนาครั้งนี้มีผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียว คือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่างาน
“ดิฉันจะไม่รับงานเสาร์อาทิตย์เลย เพราะเป็นเวลาครอบครัว แต่จะส่งสามีไปแทน ถ้าเราเลือกเวิร์คทั้งคู่ก็ไม่ดี อย่างน้อยเด็กต้องมีคนดูแล ดิฉันจะเลือกครอบครัว ไม่ทุ่มให้งานร้อยเปอร์เซ็นต์ เสาร์อาทิตย์จะให้ครอบครัว ส่วนวันธรรมดาก็จะทำงานเต็มที่” เธอบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว
ในฐานะที่เป็นแม่และเป็นผู้หญิงทำงาน เธอจึงเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากมีลูก โดยเฉพาะสถานที่ทำงานบางที่ไม่มีสถานเลี้ยงดูเด็กอ่อน เธอจึงเสนอว่าสถานที่ทำงานบางแห่งควรส่งเสริมเรื่องนี้ ส่วนบทบาทภาครัฐควรดูแลทั้งระบบประกันสังคมและระบบภาษี เพราะนโยบายของรัฐตอนนี้ไม่เอื้อให้คนอยากมีลูก
ส่วนณัฐธีร์ หรือบ็อบ โกศลพิศิษฐ์ ผู้ประกาศข่าว เล่าประสบการณ์ในฐานะคุณพ่อลูก 4 ว่า ถ้าไม่มีงานก็จะบริหารจัดการครอบครัวไม่ได้ เพราะถือเป็นหัวเรือหลักของครอบครัวจึงให้ความสำคัญพอๆ กัน
“การทำงานเกือบทุกวันทำให้มีเวลาให้ครอบครัวน้อย จึงต้องหาคนมาช่วยดูแลลูกในงานที่เป็นกิจวัตรประจำวัน แต่เราก็พยายามหากิจกรรมเสริมทักษะลูก อย่างน้องณัฐชาก็ถือเป็นมาตรฐานที่เราพัฒนาไว้ ส่วนเด็กๆ อีก 3 คนจึงต้องใช้พี่สาวเป็นมาตรฐาน ดังนั้น เวลาอยู่กับลูกจึงต้องตัดทุกอย่าง โดยเฉพาะโทรศัพท์”
ในฐานะผู้บริหารบริษัทคลิ๊กฟอร์ เคลฟเวอร์ จำกัด เขาจึงปฏิบัติกับพนักงานเสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัว โดยพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น เวลาไปสัมมนาต่างจังหวัดก็จะให้พนักงานพาครอบครัวไปด้วยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องรอภาครัฐ
เรื่องและภาพโดย...หทัยรัตน์ พหลทัพ