วันนี้ (18 เม.ย.2560) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงกรณีมีชาวประมงร้องเรียนว่าได้จ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อต่อการทำประมงผิดกฎหมายว่า ขณะนี้ ตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน เพื่อสืบสวนประเด็นที่เกี่ยวข้องว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หากพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสอบทางวินัย สำหรับภาพรวมที่ผ่านมาได้ตรวจจับไปแล้วกว่า 500 ครั้ง มีข้อมูลผู้กระทำผิด 254 เรื่องในช่วงเดือน ตุลาคม 2559 - ปัจจุบัน
"ปัจจุบันเรือประมงที่ถูกจับมาก คือห้ามใช้เครื่องมือที่ห้ามใช้ในเขตทะเลชายฝั่ง ใกล้ 3 ไมล์ทะเล แต่ประเด็นเรื่องจ่วยส่วยให้เจ้าหน้าที่นั้น ที่ผ่านมาเมื่อมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนขอหลักฐาน ชาวประมงหลายราย ไม่มีหลักฐานและไม่กล้าให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ เพราะเขาก็ถือเป็นผู้กระทำผิดเองด้วย ทำให้การตรวจสอบเชิงลึกของเจ้าหน้าที่เป็นไปได้ยาก และแทบตรวจสอบไม่ได้ ที่ผ่านมาเราตรวจสอบพบบ้าง ไม่พบบ้าง แต่หากสื่อมวลชน หรือประมงคนใดถ่ายภาพ ถ่ายคลิปไว้ ก็ช่วยนำส่งมาให้ได้ จะได้นำไปดำเนินการตรวจสอบ" อธิบดีกรมประมงกล่าว
พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีชาวประมงโทรศัพท์แจ้งโดยตรงต่อ ศปมผ. ซึ่งกลุ่มแรกเป็นเรือประมงประเภทปลากระตักระบุว่าจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ เพื่อนำเรือไปล้อมจับปลาในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งตามกฎแล้วไม่สามารถออกหาปลาได้ ส่วนอีกกลุ่มเป็นเรื่องน้ำหนักมากกว่า 30 ตันกรอส แต่ไม่ต้องการแจ้งขึ้นทะเบียนที่ศูนย์ควบคุมแจ้งเข้าแจ้งออก (PIPO) ตามที่กฎหมายกำหนด จึงแจ้งว่าได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ เพราะเขาอ้างว่ามีเส้นสายดี
"เหตุการณ์ปัจจุบัน ยังไม่ยืนยันว่าเป็นอย่างไร แต่ในอดีตมันเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งการจ่ายส่วยนั้น ที่ผมเคยทราบ มีตั้งแต่ราคาอย่างน้อย 5,000 บาทไปจนถึง 300,000 บาทต่อลำ บางรายจ่ายเป็นต่อเดือน แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียที่ลงลง เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลต่อการสอบสวน" พล.ร.ท.วรรณพล กล่าว
พล.ร.ท.วรรณพล ระบุด้วยว่า สำหรับพื้นที่ที่พบการร้องเรียนมีทั่วไป แต่ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนเป็นพื้นที่ที่จับตามากที่สุด ซึ่งต้องขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกันก่อน จากนั้นเชื่อว่ารายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกันน่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้