หัวใจสำคัญคือต้องสง่างาม พร้อมเพรียงในทุกท่วงท่า แม้แต่การลุกนั่ง เคลื่อนไหวจึงต้องอาศัยการนับจังหวะ โดยเฉพาะท่าถวายบังคม 10 ขั้นตอน ที่เริ่มตั้งแต่การคุกเข่า ประนมมือ โน้มตัวไปข้างหน้า จนถึงการวาดมือขึ้นให้ปลายนิ้วของกำลังพลทุกนายอยู่ในระดับเดียวกัน นี่คือหนึ่งในท่าสำคัญ ที่ครูฝึกทั้ง 20 นาย ต้องฝึกซ้อมให้ถูกต้องพร้อมเพรียงภายใน 10 วัน ก่อนจะถ่ายทอดท่าฝึกให้กับกำลังพลฉุดชักราชรถ ที่ผ่านการคัดเลือกร่วม 300 นาย
ครูฝึกพลฉุดชักราชรถทั้ง 20 นาย ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่มีประสบการณ์ ทั้งจากการสอน และเคยเป็นพลฉุดชักราชรถในพระราชพิธี โดยการฝึกซ้อมครั้งนี้ ครูฝึกจะรับหน้าที่ฝึกสอนกำลังพลที่จะปฏิบัติหน้าที่ฉุดชักราชรถพระนำ และพระมหาพิชัยราชรถ ในริ้วขบวนที่ 2 ซึ่งจะอัญเชิญพระบรมโกศจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในระยะทางร่วม 1 กิโลเมตร
สำหรับท่าฉุดชักราชรถ มีทั้งหมด 7 ท่า เป็นท่าหลักของทหาร เช่น ท่าตรง ท่าพัก และท่าหันอยู่กับที่ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาสำหรับริ้วขบวน คือ ท่าถวายบังคม ท่าหยิบเชือก-วางเชือก ท่าเดินอยู่กับที่ และท่าเดินตามจังหวะ โดยในส่วนของกำลังพลคาดว่าจะเริ่มฝึกซ้อมในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้