นักเรียนชั้นอนุบาลที่สมัครเข้าเรียน ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม พนมพิทยพัฒน์ เตรียมพร้อม ปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอมในเดือน พ.ค.นี้ โดยนักเรียนชั้นอนุบาลที่สมัครเข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนมาได้ 1 ปีการศึกษา ด้วยจุดมุ่งหวังต้องการยกระดับการศึกษาเทียบเท่ามาตรฐานสากล จึงออกแบบหลักสูตร CEIP ที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นสื่อกลางการสอนและถือเป็นโรงเรียนแห่งแรกๆในภูมิภาคนี้ ที่นำเข้าซอร์ฟแวร์ จากอินเดียมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ช่วยให้การจัดการทั่วไป การจัดแผนการสอน เนื้อหา ครูผู้สอนสามารถออกแบบด้วยตัวเอง นักเรียนเข้าถึงสื่อการสอนที่ทันสมัย
"ศตวรรษที่ 21 มันจะต้องใช้เทคโนโลยี ซึ่งการเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้เข้ากับยุตดิจิทัลที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยและจะต้องสร้างเด็กที่อย่างน้อยเด็กรุ่นนี้จะต้องเรียนไม่ต้่ำกว่า 2 ภาษา " ผศ.ทัศนา ประสานตรี ผู้อำนวยการโรงเรียน สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าว
ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 50 ล้านบาท จึงถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า เพราะปีการศึกษานี้มีนักเรียนตั้งแต่อนุบาล ถึง มัธยม สมัครเข้าเรียนเพียง 30 กว่าคน ผู้อำนวยการโรงเรียน ยอมรับว่า เป็นเพียงการเริ่มต้น โดยขอเวลา 5 ปี ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ขณะที่การบริหารงานโรงเรียนก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน เมื่อ ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย เข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการโรงเรียน
ประชาคมมหาวิทยาลัยนครพนมบางส่วน มองว่า ไม่ใช่บทบาทของนายกสภาฯ ที่ตามหลักการต้องกำกับนโยบาย มากกว่า การลงมาบริหารงาน โดยมีอำนาจตัดสินใจ แทรกแซงการบริหารงานโรงเรียน ซึ่ง ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ปฏิเสธเรื่องนี้
"แม้แต่นายกสภายังเป็นประธานเองจะมีอะไรผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้มีอะไรผิด ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการบริหารด้วยซ้ำ ซึ่งผมไปเป็นประธานบอร์ดโรงเรียนสาธิต แล้วให้นโยบายว่าควรจะทำอย่างไร แล้วควรจะทำอย่างไรนั้นแนวคิดก็จะไม่เหมือนกับโรงเรียนสาธิตแห่งอื่นๆ" ศ.(พิเศษ) ภาวิช ระบุ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนมฯ เป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการใช้อำนาจไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยนครพนม ส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี และหลายหน่วยงานตรวจสอบ