นักลงทุนกว่า 200 คน เข้ายื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เอาผิดบริษัท อีเดิ้ล เกล ที่หลอกให้ลงทุนซื้อดอลลาร์สหรัฐ ในลักษณะเครือข่าย พร้อมการันตีผลตอบแทน ตามระดับเงินลงทุนและจำนวนสมาชิกลูกข่ายแต่บริษัทปิดตัว ผู้บริหารหนีออกต่างประเทศ เชิดเงินไปไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
สูตรสำเร็จของมิจฉาชีพฉ้อโกงประชาชน และแชร์ลูกโซ่ เหมือนหลายคดี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ หมอตุ๋นหมอ ให้ร่วมลงทุนบริษัททัวร์ แชร์ล็อตเตอร์รี่สหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหล่านี้ ล้วนจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง ชนิดไม่ต่ำกว่าเดือนละ ร้อยละ 10 ล่อใจให้ลงทุน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง ร้อยละ 2 แถมเพิ่มความน่าเชื่อถือเช่น กรณีแชร์ล็อตเตอร์รี่สหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ความมีชื่อเสียงของอาจารย์ และกรณีเหมืองทองคำ ถึงขั้นนำสมาชิกลงพื้นที่ถึงเหมืองทองในมาเลเซีย
ล่าสุดมีกระบวนการหลอกลวงข้ามชาติ อ้างลงทุนใน หน่วยข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ ชื่อ วันคอยน์ เทียบเคียงตัวเองกับ บิทช์ คอยน์ ซึ่งบางประเทศให้การยอมรับว่าเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้การรับรองทั้งวันคอย์ และบิทคอยน์ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หากเกิดความเสียหายจากการลงทุน จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เหมือนการลงทุนในตลาดปกติ และอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ ใช้เป็นเครื่องมือนำไปหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความผิดของแชร์ลูกโซ่เป็น 1 ใน 25 คดีอาญาฟอกเงิน ที่รัฐกำลังเร่งกวาดล้าง แต่รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปและใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ยากต่อการติดตาม ทำให้ขบวนการหลอกลวง มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในด้านการป้องกันกลับมีข้อจำกัดด้านกำลังเจ้าหน้าที่
ที่น่าสะเทือนใจคือ เหยื่อ บางรายเริ่มต้นเข้าไปด้วยความโลภ แม้เริ่มรู้ระแคะระคายว่าอาจถูกหลอกแต่ไม่ยอมถอนตัว กลับลวงคนอื่นเข้าไปติดกับ เพียงเพื่อหวังได้เงินคืนขบวนการนี้จึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยากจะหยุดลง