วันนี้( 1 พ.ค.2560) เมื่อเวลา 15.00 น.พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ เปิดแถลงข่าวกรณีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีโดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากมาร่วมรับฟังจำนวนมาก
พลเรือเอกลือชัย ยอมรับว่าการที่กองทัพเรือไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมาก่อนหน้า เพราะยอมรับว่าเป็นเอกสารลับของทางราชการ เปิดเผยไม่ได้ จนถูกนักข่าวหลายคนตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส และถูกถามเรื่องความจำเป็นหรือไม่ จนกระทั่งวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน 1 ลำ จำนวน 13,500 ล้านบาท
“ยอมรับกองทัพเรือไม่ได้แค่จัดซื้อเรือดำน้ำ ในยุคนี้ แต่ทำมาเกือบครึ่งศตวรรษ และกระ บวนการไม่แตกต่างกัน ข้อเท็จจริงจะปรากฎในวันนี้ และต้องการพูดคุยกับสือมวลชน โดยขอแจงแบบฉันท์เพื่อน อยากให้บรรยากาศเหมือนเพื่อนนั่งคุยกับเพื่อน และไม่ชี้แจงเพราะกองทัพเรือไม่ได้เป็นจำเลย ทั้งนี้การเลือกซื้อของจีนดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน เพราะตอบโจทย์ภารกิจแบบที่กองทัพเรือต้องการทั้งหมด เช่น ภารกิจในการรักษาความมั่นคง รักษาสันติภาพ การปฏิบัติการทางการทหาร”
แจงงบแบ่งจ่าย 17 งวด ก้อนแรก 700 ล้านบาท
ด้าน พล.ร.ต.กฤษฎากรณ์ พันธุมโพธิ์ ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ นฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง วงเงิน 13,500 กองทัพเรือใช้งบประมาณที่ได้รับปกติ ของกองทัพเรือ ราคานี้จะรวมการฝึกอบรมกำลังพล และระบบสนับสนุนต่างๆ ที่กองทัพเรือไม่มีอะไรรองรับอยู่เลย ทั้งนี้จะแบ่งจ่ายการชำระเงินรวม 7 ปี แบ่งจ่ายเป็น 17 งวด ปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-65 ปีจะเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท และการจ่ายเงินจะไม่เป็นภาระและกระทบกับงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพเรือ
ทั้งนี้ หากคิดมูลค่าในสิ่งที่ได้เพิ่มเติมก็นับว่าถูกมาก อีกทั้งตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากซื้อของจำนวนน้อยก็ย่อมมีราคาแพงกว่าการซื้อของจำนวนมาก เมื่อคิดราคาต่อหน่วย นอกจากนี้ผลการเจรจากับจีน ทราบว่ากองทัพเรือมีความยินดีให้การสนับสนุน เพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับการฝึกอบรมตามหลักสูตรต่างๆ ให้กับกำลังพลของกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก
ทั้งในส่วนของกำลังพลประจำเรือ กำลังพลสายเทคนิค และส่วนสนับสนุนต่างๆ และกำลังในส่วนบัญชาการและอำนวยการ ซึ่งจะเป็นการช่วยวางรากฐานที่สำคัญให้กับกองทัพเรืออย่างยั่งยืน รวมทั้งกองทัพเรือจีน ยังมีความยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือในการตรวจยืนยันคุณภาพในทุกขั้นตอนให้มีความเป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การตรวจรับรองแบบ การตรวจรับรองแผ่นเหล็ก หรือวัสดุสร้างเรือ หารทำสอบชั้นโครงงาน การทดสอบหน้าท่า การทดสอบทดลองในทะเล การยิงทดสอบตอร์ปิโดฝึก การทดสอบทดลองให้เต็มศักยภาพก่อนการตรวจรับ
ด้านพลเรือโทพัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ยังระบุว่า การมีเรือดำน้ำไม่ได้เป็นความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมี และต้องการให้มองในภาพรวม ไม่ใช่เพียงขั้นตอนการจัดซื้อ แต่รวมถึงขั้นตอนการเรียนรู้ พัฒนาการฝึกให้กำลังพลมีทักษะเกี่ยวกับเรือดำน้ำ โดยขอให้สังคมมองอย่างเป็นกลาง
คาดเซ็นสัญญากับจีนภายในเดือนพ.ค.นี้
นอกจากนี้ พลเรือตรีกฤษฎาภรณ์ ยังบอกว่า ส่วนจะมีการเซ็นต์สัญญาซื้อขายเมื่อใดนั้นอยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสารทางธุรการเพิ่มเติม แต่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะจ่ายเงินงวดแรกหลังเซ็นสัญญาไปแล้วไม่เกิน 45 วัน ส่วนลำที่สองจะจัดซื้อเมื่อใดก็ต้องรอดูงบ ประมาณ และ ความพร้อมของกองทัพเรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงชี้แจงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนเสร็จสิ้นลง ได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม และ 1 ในคำถามนั้น ก็คือ แนวโน้มในการจัดซื้อเรือดำน้ำให้ครบตามแผนรวม 3 ลำ ซึ่งก่อนหน้านี้่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็รับว่า หากแผนจัดซื้อลำที่ 2 ไม่ผ่าน ครม.สมัยหน้า ก็พร้อมยอมรับ
สำหรับการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในวันนี้กองทัพเรือใช้เวลาทั้งในการชี้แจง และตอบข้อซักถามเกือบ 3 ชั่วโมง