เอกสารแจงสื่อ 4 หน้าเคลียร์ 6 ประเด็นปมซื้อเรือดำน้ำ

การเมือง
1 พ.ค. 60
17:13
908
Logo Thai PBS
เอกสารแจงสื่อ 4 หน้าเคลียร์ 6 ประเด็นปมซื้อเรือดำน้ำ
กองทัพเรือ จัดทัพกุนซือ แถลง 6 ประเด็นละเอียดยิบ ปมการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน วงเงินลำแรก 13,500 ล้านบาท ชี้ถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเพิ่มศักยภาพกองทัพ

วันนี้(1 พ.ค.2560) กองทัพเรือมอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ ณ โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยการแถลงครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง แจกแจงรายละเอียดในทุกประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ประกอบเอกสารที่แจกให้สื่อมวลชน 4 หน้า

ความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์กองทัพเรือ


จากการที่กองทัพเรือมีหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้าส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล กองทัพเรือจึงต้องมีการวางแผนพัฒนากำลังรบ เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังทางเรือในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ความต้องการเรือดำน้ำเป็นไปตามการประเมินยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ อาจกล่าวได้ว่าการจัดหาเรือดำน้ำแท้จริงแล้วไม่ใช่ความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของประเทศชาติ เพราะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ของประเทศ อาวุธทางยุทธการของกองทัพไทย เพราะเป็นอาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพเรือ

ความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ


กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี ซึ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างก็มีการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการและพัฒนาขีดความสามารถในด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ด้วยทุกประเทศต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีศักยภาพที่เพียงพอในการคุ้มครองผลประโชยน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลและเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางทะเลของตน รวมทั้งมีการวิเคราะห์กันแล้วว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ตอบโจทย์การรักษาความมั่นคงทางทะเลและมีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง จากการที่กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำมาเป็นระยะเวลานานดังกล่าว ทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถด้านนี้อย่างสิ้นเชิงทั้งองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของกำลังพล โครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนต่างๆ ดังนั้นการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือครั้งนี้ นับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมด และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถและการวางรากฐานในการทำสงครามใต้น้ำให้กับกองทัพเรือ จึงจำเป็นต้องคิดทั้งระบบ ได้แก่ เรือดำน้ำ องค์บุคคล องค์ความรู้และเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนทั้งหมด

ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามและความรอบคอบในการดำเนินการอย่างยิ่ง ส่วนประเด็นปัจจัยความลึกของอ่าวไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการได้แบบสบายๆ ดังเห็นได้จากเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรือดำน้ำของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายต่อประ เทศไทยอย่างมาก รวมทั้งเรือหลวงสมยุที่ปฏิบัติภารกิจช่วยลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ประเทศในขณะนั้นก็จมลงด้วยฝีมือของเรือดำน้ำในอ่าวไทยนี้ และในปัจจุบันกองทัพเรือได้ทำการฝึกกับเรือดำน้ำสหรัฐฯ ขนาด 6,000 ตัน อยู่เป็นประจำ ซึ่งเรือดำน้ำของสหรัฐฯ ก็สามารถปฏิบัติการได้

 

ความเป็นมาและทิศทางในการดำเนินโครงการ

กองทัพเรือได้ศึกษาและดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ปี โดยเกือบจะได้รับการอนุมัติให้จัดหามาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่น พศ.2538 ที่จะจัดหาเรือดำน้ำจากบริษัทคอกคูม ประเทศสวีเดน พศ.2553 ที่กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ หรือผ่านการใช้งานมาแล้ว จำนวน 2-3 ลำ วงเงิน 48,000 ล้านบาท และ พศ.2554 กองทัพเรือก็ได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A จากสาธารณรัฐเยอรมนี ที่เป็นเรือดำน้ำใช้แล้ว แต่มีสภาพดี เป็นต้น

 หลักการสำคัญในการจัดหายุทโธปกรณ์และเหตุผลคัดเลือกเรือจากจีน

การดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประ มาณ 2558 ต่อเนื่องมาในปีงบประมาณ 2559 จนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน กองทัพเรือได้มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจากประเทศต่างๆ 6 ประเทศ ซึ่งบางประเทศก็ให้เฉพาะตัวเรือ ไม่ให้ระบบอาวุธ บางประเทศให้ทั้งตัวเรือและระบบอาวุธแต่ก็มีราคาสูงและอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงแพงมาก บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยยึดหลักการจัดกายุทธปกรณ์ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.การมีขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ 2.ความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน 3.ความสามารถในการจ่ายได้ ซึ่งข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน S26T พร้อมระบบอาวุธและระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับกำลังพล เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ได้ตามหลักการในข้างต้นมากที่สุด

เรือดำน้ำชั้นหยวน S26T เป็นเรือดำน้ำที่ได้รับการพัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้น KILO ของรัสเซียที่เป็นเรือดำน้ำที่มีชื่อเสียงมากในอดีต ทั้งด้านสมรรถนะและความเงียบ และจีนนำมาพัฒนาต่อยอดโดยการวิจัยพัฒนาร่วมกับประเทศสวีเดน ในการนำระบบ AIP เข้ามาใช้ในเรือดำน้ำชุดนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติงานใต้น้ำได้นานมากขึ้น จึงมีจุดเด่นในคุณสมบัติด้านการซ่อนพราง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องการมากที่สุดของเรือดำน้ำ

รวมทั้งได้มีการพัฒนาต่อยอดด้านระบบอาวุธที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องความแม่นยำและอำ นาจในการทำลายทั้งในมิติใต้น้ำด้วยกัน มิติผิวน้ำ และข้ามไปในมิติบนฝั่งได้อีกด้วย เป็นข้อได้เปรียบและเป็นผลดีต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องปรามอย่างก้าวกระโดด

ประกอบกับเรือดำน้ำรุ่นนี้ เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่กองทัพเรือใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ และไม่เคยประสบปัญหาในด้านความไม่ปลอดภัยและด้านการใช้งาน จนในปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจและสั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นนี้เพื่อนำไปใช้ด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งศักยภาพของกองเรือดำน้ำจีนก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นกองเรือดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ในระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เรือดำน้ำ S26T เป็นเรือที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถทอเพียงพอ และมีสายการผลิตและอะไหล่มากพอที่จะรองรับการปรนนิบัติบำรุงตลอดอายุการใช้งานของเรือดำน้ำได้

 

ความคุ้มค่าในแง่มุมของราคาและประโยชน์ที่ได้รับ

 

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ กองทัพเรือต้องการเรือดำน้ำ อย่างน้อย 3 ลำ โดยแนวทางการใช้งานจะใช้ปฏิบัติการหนึ่งลำ เตรียมพร้อมหมุนเวียนหนึ่งลำ และซ่อมตามวงรอบหนึ่งลำ การจัดหาครั้งนี้เป็นการจัดกาเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง วงเงิน 13,500 ล้านบาท ใช้งยประมาณของกองทัพเรือ ราคานี้จะรวมการฝึกอบรมกำลังพล และระบบสนับสนุนต่างๆ ที่กองทัพเรือไม่มีอะไรรองรับอยู่เลย โดยหากคิดมูลค่าในสิ่งที่ได้เพิ่มเติมก็นับว่าถูกมาก อีกทั้งตามหลักเศรษฐ ศาสตร์ Economy of scale ที่ว่า หากซื้อของจำนวนน้อยก็ย่อมมีราคาแพงกว่าการซื้อของจำนวนมากเมื่อคิดราคาต่อหน่วย

นอกจากนี้ผลการเจรจากับทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ทราบว่ากองทัพเรือมีความยินดีให้การสนับสนุน เพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับการฝึกอบรมตามหลักสูตรต่างๆ ให้กับกำลังพลของกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของกำลังพลประจำเรือ กำลังพลสายเทคนิค และส่วนสนับสนุนต่างๆ และกำลังในส่วนบัญชาการและอำนวยการ ซึ่งจะเป็นการช่วยวางรากฐานที่สำคัญให้กับกองทัพเรืออย่างยั่งยืน รวมทั้งกองทัพเรือจีนยังมีความยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือในการตรวจยืนยันคุณภาพในทุกขั้นตอนให้มีความเป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การตรวจรับรองแบบ การตรวจรับรองแผ่นเหล็ก หรือวัสดุสร้างเรือ หารทำสอบชั้นโครงงาน การทดสอบหน้าท่า การทดสอบทดลองในทะเล การยิงทดสอบตอร์ปิโดฝึก การทดสอบทดลองให้เต็มศักยภาพก่อนการตรวจรับ

รวมทั้งสนับสนุนมาตรฐานที่สำคัญต่างๆอีกทั้งกระทรวงกลาโหมของจีน ก็ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนด้านอาวุธที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางยุทธการและการฝึกเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อความพร้อมในการทำสงครามใต้น้ำของกองทัพเรือ
ขั้นตอนและกระบวนการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐบาลและความเชื่อมั่นและโปร่งใส


สำหรับการดำเนินโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือและเรือดำน้ำ กองทัพเรือยึดถือแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือ และแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารจากมิตรประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางปกติที่ดำเนินการทุกครั้งในการยุทโธปกรณ์จากภายนอกประเทศ ตั้งแต่การเสนอความต้องการโครงการ การกำหนดความต้องการในรายละเอียด การศึกษาและคัดเลือกแบบ ซึ่งได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 และการดำเนินการจัดจ้างและการเจรจา การขออนุมัติจัดซื้อ/จ้างและการทำสัญญา และการบริหารสัญญา และการบริหารสัญญาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

 


ส่วนการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญ มีระยะเวลาดำเนินโครงการค่อนข้างนาน มีวงเงินค่อนข้างสูง ผลสำเร็จมีผลกระทบต่อกองทัพเรือ และประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีนที่มีทั้งบริษัทต่อเรือ กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือจีน ที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมทางทหาร ซึ่งจะต้องเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เดินหน้าและประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ขั้นดำเนินโครงการไปจนถึงการใช้งานตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้นการจัดทำสัญญาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลนี้ ย่อมลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลสามารถกำกับดูแลและติดตามการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ง่ายต่อการติดตามตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน


งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำและการชำระเงิน

 

งบประมาณที่ใช้ในการารจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง วงเงิน 13,500 กองทัพเรือใช้งบประมาณที่ได้รับปกติ ของกองทัพเรือ ราคานี้จะรวมการฝึกอบรมกำลังพล และระบบสนับสนุนต่างๆ ที่กองทัพเรือไม่มีอะไรรองรับอยู่เลย ทั้งนี้จะแบ่งจ่ายการชำระเงินรวม 7 ปี แบ่งจ่ายเป็น 17 งวด ปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-65 ปีจะเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท และการจ่ายเงินจะไม่เป็นภาระและกระทบกับงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพเรือ

ข้อดีของการใช้เรือดำน้ำแบบ S26T


 1. ด้านการซ่อนพรางตัว เรือดำน้ำที่แบบ S26T มีขีดความสามารถในการซ่อนพรางตัวเองสูงมากเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว เพราะจะสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าถึง 5 เท่า เนื่องจากมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก หรือระบบ AIP (Air Independent Propulsion System) หรือหมายถึงไม่ขึ้นมาหายใจ แต่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขณะดำอยู่ใต้น้ำได้ เนื่องจากใช้ออกซิเจนจากถังเก็บที่นำไปกับเรือด้วย ทำให้ได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกำลังทางเรือฝ่ายตรงข้ามได้


2. ด้านระบบอาวุธที่มีหลากหลายและรุนแรง โดยทั่วไปแล้วอาวุธที่เป็นอาวุธหลักของเรือดำน้ำ คือ ตอร์ปิโด ซึ่งจะยิงจากท่อตอร์ปิโด ซึ่งสามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้นหรือสู่เป้าหมายบนฝั่งได้ด้วย รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถวางทุ่นระเบิดได้อีก ทำให้กองทัพเรือจะมีขีดความสามารถในการสู้รบเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากจากการได้รับอาวุธ ทั้ง 3 ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือเป็นขีดความสามารถที่สำคัญ


3. ด้านความปลอดภัย ภายในเรือดำน้ำแบบ S26T ได้ออกแบบให้แบ่งเป็นห้องหรือ Compartment ย่อยๆ ที่กันน้ำ เมื่อมีน้ำเข้าเรือห้องใดห้องหนึ่งเรือก็ยังมีแรงสำรอง มากพอที่จะสามารถนำเรือขึ้นสู้ผิวน้ำได้นอกจากนี้ การแบ่งเป็นห้องหรือ Compartment ย่อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นในห้องใดห้องหนึ่ง กำลังของเรือก็ยังสามารถย้ายไปห้องอื่น เพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยายกู้ภัยเรือดำน้ำจากหน่วยที่ให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งปัจจุบันยายช่วยชีวิตหรือยายกู้ภัยเรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้สามรถให้การช่วยเหลือเรือดำน้ำที่ประสบเหตุได้ถึงความลึกกว่า 500 เมตร โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหนีออกจากรเอดำน้ำ ที่เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีหนทางอื่น เนื่องจากการหนีออกจากดรือดำน้ำมาเองนั้นเสี่ยงอันตราย

4. ด้านการฝึกอบรมกำลังพลที่จะไปเป็นกำลังพลรับเรือกลับมาและใช้งานเรือดำน้ำลำนี้ชุดแรก จะได้การฝึกอบรมเป็นขั้นตอนจากกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประสบการณ์การฝึกอบรมมากว่า 60 ปี มีกำลังพลที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 80,000 นาย ซึ่งการอบรมให้กับกำลังพลของกองทัพเรือจะใช้แนวทางการฝึกอบรมแบบเดียวกับที่ทำการฝึกอบรมให้กับกำลังพลกำลังพลประจำเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ที่มีเรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า ใช้งานมากกว่า 50 ลำ

โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกอบรมในห้องเรียน เพื่อเรียนรู้ภาคทฤษฎีในหน้าที่ของแต่ละคน การฝึกในเครื่องฝึกจำลอง (Simulator) เพื่อเรียนรู้การทำงานของหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆ ในเรือดำน้ำ การเรียนรู้ในอุปกรณ์จริงเพื่อให้สามารถใช้งานและเกิดความคุ้นเคย การลงฝึกในเรือดำน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว ทำการฝึกกำลังพลทั้งลำในการใช้งานเรือ ตั้งแต่การเดินเรือตามปกติในทะเล ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญไปจนถึงการฝึกใช้อาวุธ โดยกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน จะทำการฝึกและควบคุมการฝึก ตลอดระยะเวลาการฝึกทั้งสิ้นประมาณ 2 ปี

 

 

5. ด้านการดูแลรักษาที่ต้อเนื่อง ซึ่งนอกจากการรับประกันจากการส่งมอบระยะเวลา 2 ปี ที่บริษัทอื่นไม่ได้เสนอแล้ว การรับประกันเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด ในวงรอบ 8 ปี ที่รวมการสนับสนุนอะไหล่ที่ต้องการสำหรับการทำการตรวจสภาพเรือตามวงรอบถึง 5 ครั้ง (3 Dock check และ 2 Minor over haul ) ในช่วงดังกล่าวด้วย รวมทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำที่กองเรือดำน้ำ ตลอดช่วงรับประกันเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเริ่มต้นของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการของกองทัพเรืออีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ จึงได้มีการเตรียมเป็นขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาการกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ การสร้างอาคารที่พักสำหรับกำลังพล การจัดส่งกำลังพลไปฝึกอบรมด้านเรือดำน้ำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา การเข้าประชุมสัมนาต่างๆ ทั้งในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก และยุโรป การจัดส่งกำลังพลร่วมฝึกและสังเกตการณ์ฝึกในเรือดำน้ำ การส่งคณะไปแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับกองเรือดำน้ำประเทศต่าง ๆ ร่วมทั้ง ได้จัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ เพื่่อการศึกษา ทบทวน ความรู้ให้กับกำลังพล และทดสอบ ทดลองยุทธวิธีเรือดำน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม

การพัฒนากำลังรบของประเทศในแถบอาเซียนที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยอีก 10 ปี
1.ประเทศมาเลเซีย จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ
2.ประเทศสิงคโปร์ จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 12 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ
3.ประเทศเวียดนาม จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ
4.ประเทศเมียนมา จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 38 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง