เปิดขุมทรัพย์อุทยานฯอันดามัน ตอน 3 : ช่องไหนบ้างที่เงินพันล้านรั่วไหลออกไปจากอุทยานฯ
จากกรณีเว็บไซต์ Thai PBS นำเสนอรายงาน “เปิดขุมทรัพย์อุทยานฯอันดามัน” ไปแล้ว 2 ตอน ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและรายได้ประเภทต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ที่มีรายได้ผ่านเข้ามาปีละเกือบพันล้านบาท และเงินจำนวนดังกล่าวมีระเบียบที่ไม่ต้องส่งเข้ารัฐ แต่มีการแบ่งสัดส่วนเพื่อให้ดำเนินการต่างๆ อย่างไรก็ตามเงินร้อยละ 95 ยังคงอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมีการตั้งข้อสังเกตว่า อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในฝั่งทะเลอันดามัน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน จึงน่าจะมีการจัดเก็บรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือรายได้ดังกล่าวอาจมีการรั่วไหล
ล่าสุดนอกจากรายได้ที่คาดว่ารั่วไหลจากการเก็บค่าธรรมเนียมที่นำเสนอไปแล้วนั้น ผู้สื่อข่าวยังลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายรายและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางคน พบข้อมูลการรั่วไหลของรายได้ และช่องทางที่รายได้ดังกล่าวเลื่อนไหลไปถึงด้วย อาทิ
1.รายได้ที่อุทยานแห่งชาติได้รับหรือสร้างรายได้ขึ้น แต่ไม่นำส่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ เช่น กิจการร้านอาหารที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางรายเป็นเจ้าของ หรือให้ญาติหรือคนสนิทสวมชื่อแทน และบังคับให้บริษัททัวร์ต้องใช้บริการ เมื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าไปในอุทยานแห่งชาตินั้นๆ ซึ่งบางแห่งสร้างรายได้ถึงวันละ 10 ล้านบาท
2.การจัดซื้อจัดจ้างซ่อมแซมบ้านพัก อาคาร จัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามจริง หรือไม่ครบถ้วน ทำให้สภาพบ้านพัก อาคารหรืออุปกรณ์ อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ และเมื่อมีการตรวจสอบ มักอ้างว่ามีการใช้งานบ่อยครั้งจึงทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว
3.การเปิดให้บริการบ้านพักเกินจำนวน หรือมีการเพิ่มที่พักโดยไม่แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ และส่งรายรับที่ไม่เป็นจริง
4.การเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ในจำนวนที่ไม่เป็นจริง โดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และไม่นำส่ง
5.รายได้ที่รั่วไหลนอกเหนือจากที่แจ้งและนำส่งเข้ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังถูกจัดส่งไปยังบุคคลต่างๆ ที่มีระดับสูงขึ้นไปเป็นการส่วนตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คนนั้นๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อุทยานฯหลายคนหลายแห่ง รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน แต่ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันได้ว่า รายได้ที่รั่วไหลทั้งหมดมีใครได้รับผลประโยชน์บ้าง และจำนวนเท่าใด แต่เคยมีการเก็บข้อมูลกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้
อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว 6 จังหวัด ฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้เสนอทางออกต่างๆ ร่วมกัน นับตั้งแต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม การจำหน่ายตั๋วค่าบริการ การจัดทำสื่อและโฆษณา ไปจนถึงการออกกฎหมาย และการตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตและเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ดังนี้
1.ขอผ่อนผันค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานฯในราคาที่ 150 บาททั้งเกาะพีพีและอ่าวพังงา โดยมีเหตุผลดังนี้ คือ 1.1 ราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาที่สมเหตุสมผล กับการเข้าชมอุทยานในช่วงระยะเวลาสั้น
1.2 เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวให้คงอยู่ในระดับเท่าเดิม
1.3 ทำให้ราคาต้นทุนยังคงที่ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาทั้งในและนอกประเทศ
1.4 ผู้ประกอบการยังคงช่วยรักษาการรับภาระและช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ ในการชำระค่าธรรมเนียมระหว่างการขอกระบวนการจัดเก็บที่มีคุณค่า และสิ้นสุดการวางคอนแทรคระหว่างคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ
1.5 ลดปัญหาการเปรียบเทียบทางการค้า ในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอุทยาน ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เพราะมีราคาที่ถูกกว่า เช่น เกาะรายา เกาะคอรัล
1.6 หากปัญหาการโยกย้ายฐานนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบด้านราคา การเปรียบเทียบสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาอย่างหนักในเรื่องต้นทุนในภาวะขาดทุน จากการลดปริมาณของนักท่องเที่ยว ซึ่งนำมาสู่การปิดกิจการในที่สุด ผลกระทบดังกล่าวเป็นผลกระทบต่อลูกจ้างที่ตกงาน ทำให้เกิดปัญหาต่อสังคม
1.7 เป็นการแก้ปัญหาที่ปราศจากการอคติจากผู้ประกอบการ ตัวแทนจำหน่ายและนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกฝ่ายพึงพอใจในราคาดังกล่าวที่ยุติธรรม
1.8 เมื่อไม่เกิดการยอมรับหรือความอคติต่อตัวแทนจำหน่าย โดยเฉพาะต่างประเทศ จะส่งผลต่อการเสนอขายทัวร์แก่นักท่องเที่ยว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้าย ประเทศไทยไปประเทศอื่น โยกย้ายจากโปรแกรมทัวร์เกาะพีพี ไปเกาะราชา โยกย้ายจากทัวร์ทางทะเล ไปทัวร์ทางบกแทน
1.9 ในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด ทำทุกทางที่จะรักษาระดับของนักท่องเที่ยว ไม่ให้เกิดสภาวการณ์ลดน้อยถอยลง เพราะหมายถึงปัญหาระดับชาติ
1.10 การผ่อนผันทางผู้ประกอบการและตัวแทนจำหน่ายขอระยะเวลาหลังจากที่ท่านได้จัดทำระบบและสื่อการโฆษณา พร้อมปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และการจัดทำกฎหมายเพิ่มเติมต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด
1.11 ให้อำนาจภาคเอกชน หรือสมาคมที่ตั้งใจทำเพื่อส่วนรวมเข้ามามีส่วนช่วยตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา
2.สาเหตุการผลักภาระค่าธรรมเนียมอุทยานฯ ให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ชำระตามกฎหมาย
โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
2.1 ลดช่องว่างการทุจริตระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
2.2 ตามกฎหมายของทุกประเทศ นักท่องเที่ยวเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมโดยตรง
2.3 ลดรายรับ ในเรื่องรายได้ที่ต้องยื่นภาษีของผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีตั๋วมาชี้แจงกับสรรพากร เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการเสนอราคาคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศเป็นราคารวมค่าอุทยาน
2.4 การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาไม่เกิดความยุติธรรมในการจัดเก็บ การเก็บกับผู้ประกอบการในราคาที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบด้านราคาและต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่สูงมาก เช่น บริษัทใหญ่ที่มีจำนวนลูกค้ามากจะสามารถได้ราคาค่าธรรมเนียมอุทยานฯ ที่ถูกกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กคุมต้นทุนและสู้ราคาไม่ได้ต้องปิดกิจการในที่สุด
2.5 ลดปริมาณการสำรองเงินสดในการชำระค่าธรรมเนียมอุทยานฯ ซึ่งแต่ละวันเป็นจำนวนเงินที่มาก เช่น นักท่องเที่ยววันละ 100 คน คนละ 300 บาท เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท/วัน บริษัทเรือนำเที่ยวให้เครดิตแก่ตัวแทนจำหน่าย 30 วัน รวมเป็นเงินเดือนละ 900,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้
2.6 ขณะที่บริษัทเรือนำเที่ยวต่างๆ ต่างได้รับความเดือดร้อนในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างมาก เกิดภาวะขาดทุนต่อเนื่อง หลายบริษัท
2.7 เป็นช่องทางการนำสู่การสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
2.8 ลดสภาวการณ์ต่อสู้ด้านราคาของผู้ประกอบการ เพื่อคงไว้ซึ่งต้นทุนด้านอุทยานฯ ที่เท่ากัน
2.9 เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปลอมแปลงตั๋วอุทยานฯ ได้ ไม่เกิดการนำตั๋วมาใช้ใหม่ โดยอาจจะเกิดการฮั้วกับผู้ประกอบการ ในการหมุนเวียนตั๋วกลับมาใช้อีกครั้ง ดังนั้นส่วนประกอบของตั๋วต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์
3.เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในการจำหน่ายตั๋วอุทยาน โดยมีการสุ่มตรวจตั๋วตลอดเวลา
3.1 เปิดประมูลต่อเอกชนในการจัดเก็บเพื่อให้ได้รายได้เข้ารัฐตรงตามการประมาณการ
3.2 ทำตั๋วออนไลน์เพื่อช่องทางจัดซื้อจากทุกฝ่ายได้สะดวก รวดเร็ว
3.3 จุดขายตั๋วง่ายต่อการสะดวกซื้อ เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ธนาคาร,ห้างสรรพสินค้า ที่เปิดทำการทุกวันไม่มีวันหยุด
3.4 เปิดบูทขายตั๋วตามสถานที่ต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สะดวกในการซื้อ
3.5 ทำตู้ขายตั๋วอัตโนมัติตามจุดต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้ตู้ออนไลน์อย่างแพร่หลาย
3.6 เปิดบูทขายตั๋ว และ พร้อมเป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ที่สนามบินนานาชาติ
3.7 ถ้าจะแก้ปัญหาการจัดเก็บให้ง่ายที่สุดคือ การออกกฎหมายจัดเก็บนักท่องเที่ยวเป็นการเหมาจ่าย ในมูลค่าเงินนั้นผ่านการพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับการท่องเที่ยวอุทยานได้ทุกที่ในประเทศไทย โดยจัดตั้งหน่วยเก็บเงิน ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง แต่รายได้และทรัพยากรผู้จัดเก็บของอุทยาน นำรายได้เข้าในส่วยของกรมทรัพยากร เป็นการง่ายในการตรวจสอบ ซึ่งประเทศพม่าได้ทำลักษณะดังกล่าวนี้ ส่วนกรณีของชาวต่างชาติ หรือ คนไทยที่อยู่ในประเทศ ยังคงสามารถหาซื้อได้ตามที่เสนอมาข้างต้น
3.8 ถ้าการบริหารจัดการตามข้างต้นที่กล่าวมาสำเร็จ สามารถนำปฏิบัติได้ทั้งประเทศ และเงินจะกลับเข้าประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล เนื่องจากลดช่องว่างการทุจริตลงอย่างมาก
4.การจัดทำสื่อ และโฆษณา พร้อมการออกกฎหมายบังคับให้ผู้ปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบ
4.1 เริ่มจากด่านตรวจคนเข้าเมืองในการแจกโบรชัวร์ พร้อมรายการค่าธรรมเนียมในประเทศ ประกอบด้วยภาษาที่สำคัญ โดยการฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อนำแจกนักท่องเที่ยวทุกท่านเพื่อเป็นความรู้ ในสถานที่ท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียม ช่องทางการซื้อตั๋ว การปฏิบัติตนในการเข้าสู่อุทยานฯ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของประเทศ กฎระเบียบต่อผู้กระทำผิด
4.2 จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ตั้งแต่สนามบิน และตามจุดต่างๆ ที่สำคัญ
4.3 ออกเป็นกฎหมายให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง
4.4 กำหนดน่านน้ำและเขตอุทยานฯ เช่น ไปเกาะพีพี คือถ้าเข้าอ่าวมาหยา จึงเสียค่าธรรมเนียมอุทยานฯ เพราะจริงๆแล้ว บริเวณรอบๆ ทั้งหมดคือเขตอุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมอุทยานฯ มิใช่เฉพาะบริเวณอ่าวมาหยา เนื่องจากการเสื่อมโทรมและความเสียหาย ไม่ว่าปะการัง มลพิษจากน้ำมัน ขยะมูลฝอย อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานฯ ทั้งสิ้น เช่น อ่าวพังงา ประกอบด้วย เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะตาปู เกาะปันหยี แต่เก็บเฉพาะผู้ที่ขึ้นเกาะตาปู แต่นักท่องเที่ยว ได้เที่ยวชมจุดอื่นๆ และทำให้เกิดการเสื่อมโทรม และบริเวณเหล่านั้นคืออุทยานฯ เช่นกัน ดังนั้น ผู้เข้าชมทุกจุดมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมอุทยานฯ เช่น เกาะรายา ซึ่งทะเลและปะการังเป็นสมบัติของชาติ เกิดการเสื่อมโทรมไม่มีหน่วยงานอุทยานฯ ผู้ดูแลเข้าไปดูแล และไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอุทยาน ซึ่งเรื่องควรนำสู่การพิจารณา
4.5 เอกสารประกอบจากประสบการณ์ท่องเที่ยว แกรนด์แคนยอน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อภิมหามหัศจรรย์ ระดับโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีตั๋วอุทยานที่ใช้ระบบตู้ออนไลน์เก็บค่าธรรมเนียม 2 คน 25 เหรียญดอลล่าห์ เป็นเงินไทยคนละ 375 บาท เข้าชมได้ 7 วัน สามารถนอนพักได้ตามสถานที่ที่กำหนดไว้ให้ พร้อมแจกสื่อให้การเรียนรู้ และการปฏิบัติในการเข้าชมอุทยานฯตามเอกสารที่แนบมา
4.6 ประเทศจะได้นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจในการท่องเที่ยวมากขึ้น และมีความรู้ติดตัวเพื่อเผยแพร่อย่างถูกต้อง เป็นสื่อช่วยทางการตลาดต่อไป
5.วิธีปฏิบัติได้จริง เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรม และโปร่งใส ตรวจสอบได้
5.1 ถ้าอุทยานฯ สามารถทำตามขั้นต้นที่เสนอมาได้ นั่นหมายถึงความสำเร็จในหัวข้อนี้ แต่ถ้าหน่วยงานยังคงล่าช้าในการปฏิบัติ นั่นหมายถึงการสั่นคลอนของการปฏิบัติจริง และจะนำไปสู่ระบบเดิม และอาจยิ่งทำให้เกิดความเสียหายและการทุจริตมากกว่าเดิม
5.2 การขับเคลื่อนการทำงานครั้งนี้จำเป็นต้องนำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าประชุมร่วมหารือโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดการยืดเยื้อ และเกิดการขาดความเชื่อมั่น
5.3 การทำงานต้องต่อเนื่องมีการสำรวจ ประเมินผล ตรวจสอบในพื้นที่จริง และขอข้อมูลจากทุกหน่วยงานร่วมควบคุม
5.4 ต้องใช้บุคลากรในการทำงานในจำนวนที่มากพอสำหรับการควบคุมสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้
5.5 ต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ ตัวแทนจำหน่าย และนักท่องเที่ยว
5.6 สร้างกฎหมายที่เข้มแข็งและพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบ
5.7 ใช้หน่วยทหารในการควบคุมและจับตามองอีกครั้ง เพื่อให้ทุกอย่างในช่วงแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
5.8 กำหนดด่านจุดตรวจ ให้มีช่องโหว่น้อยที่สุดเพื่อความสะดวกในการทำงานของผู้ตรวจสอบ
5.9 จัดทำงบประมาณเร่งด่วนเพื่อส่งกำลังคน และอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการทำงาน
5.10 ชี้แจง ทำความเข้าใจโดยด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
5.11 การเดินครั้งนี้ต้องกระทำอย่างถึงที่สุด และต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่นการประชุมร่วมกับหน่วยงานเอกชนเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ทุกอาทิตย์ในช่วงแรก นกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
5.12 ให้อำนาจภาคเอกชน หรือสมาคมที่ตั้งใจทำเพื่อส่วนรวมเข้ามามีส่วนช่วยตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา
5.13 มีศูนย์รับเรื่องต่างๆ ทั้งในสิ่งที่ดี และไม่ดี
5.14 ใช้สื่อและนักอนุรักษ์ การทำข่าว เข้ามาช่วยในการจัดระเบียบ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลอุทยานแห่งชาติ ในฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเตรียมนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางธรรมชาติ ถึงข้อเสนอของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในประเด็นต่างๆ ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า สิ่งที่ตนมองเห็นจากการเข้าไปเก็บข้อมูล คือ 1.ขณะนี้ทรัพยากรธรรมชาติเข้าขั้นวิกฤตแล้ว นักท่องเที่ยวจะเที่ยวตามใจชอบไม่ได้แล้ว กลไกราคาจะต้องเป็นตัวควบคุมจำนวนคนที่จะเข้าไป ไม่ใช่เข้าไปเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งถ้าใครมีความพร้อมก็ต้องจ่าย 2.ค่าธรรมเนียมเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ต้องมีความเหมาะสมไม่ใช่เพียงราคา และอุทยานแห่งชาติจะต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับด้วย ซึ่งการเสนอดังกล่าวของผู้ประกอบการนับเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
“หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้วเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็ตกแน่นอน เพราะการจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ทรัพยากรธรรมชาติมีสภาพเสื่อมโทรม ซึ่งการเสนอเข้าไปให้เขาพิจารณานั้น เราต้องมีมิติที่สามารถบอกได้ว่า เรารักษาพื้นที่อย่างไรให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบนิเวศทางทะเล เขตทะเล ชายหาด หาดโคลน ปะการัง หาดเลน ป่าชายเลน นำประจำถิ่น นกอพยพ ฯลฯ ไม่ใช่แค่ว่าเรามีทรัพยากรดี แต่เราต้องมีการจัดการที่ดีด้วย”
ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าวด้วยว่า 3 อย่างที่เราต้องมีคือ หนึ่ง มีของดี คือมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี สอง มีศักยภาพในการจัดการได้ และสาม ประชาชนต้องยอมรับ ในที่นี้หมายถึงธุรกิจท่องเที่ยว และประมงพื้นบ้าน ซึ่งเราต้องไปอธิบายให้เข้าใจว่าเราต้องการให้มีระเบียบอย่างไร เราจะห้ามเรืออวนลากอวนรุนเข้ามาทำลายทรัพยากรได้อย่างไร
สำหรับอุทยานแห่งชาติที่เตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 17 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง