วันนี้ (16 พ.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงได้มีมาตรการติดตามการแพร่ระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ และปฏิบัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐ กิจและสังคมหรือ ดีอี ได้แจ้งเตือนมา ซึ่งจนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ค. ยังไม่มีรายงานว่าหน่วยงานราชการใด ถูกโจมตีด้วยมัลแวร์
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะการเปิดเสรีทุกอย่างทำให้ยากต่อการควบคุม แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปควบคุมการเข้าถึงข้อมูลหรือ ปิดกั้นการใช้งานของประชาชน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว เว้นแต่เป็นเรื่องผิดกฎหมายต้องดำเนินการ
พร้อมยืนยันว่าการออกมาเตือนของรัฐบาลไม่ได้เป็นการสร้างกระแส เพื่อที่จะว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาวางระบบป้องกันเพราะเรื่องนี้ กระทรวงดีอี มีแนวทางดูแลอยู่แล้ว
กสทช.กำชับค่ายมือถือ- ISP คุมระบบคอมฯ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกว่า เหตุการณ์ไวรัสเรียกค่าไถ่ "WannaCry" โจมตี หลายประเทศขณะนี้ รวมถึงประเทศไทยการกำกับดูแลผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้งค่ายมือถือ และ ISP ยังไม่พบปัญหา และได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด รวมถึงแจ้งหนังสือกำชับผู้ให้บริการ
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า เมื่อวาน สำนักงาน กสทช. แจ้งหนัง สือถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ ISP ให้ตรวจสอบระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้ามาป่วยระบบซอร์ฟแวร์ หรือ เซิร์ฟเวอร์ ที่ให้บริการ แต่ภาย 1-2 วันนี้จะประชุมกับฝ่ายต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์กันใกล้ชิด
ส่วนกรณีที่ นางมรกต กุลธรรมโยธินนายกสมาคม ISP ระบุว่า ขณะนี้สมาคมยังไม่ได้รับการเป็นทางการจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่พบข้อมูลว่า ไวรัสเรียกค่าไถ่ เข้ามาในประเทศไทย กระจายตามเครื่องคอมฯ ต่างๆ กว่า 200 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.นี้
แต่สำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายเอง ได้มีการประสานข้อมูลร่วมกันตลอด ซึ่งพบว่า มีไวรัสเข้ามาจริง แต่ไม่ทราบจำนวน เนื่องจาก เป็นข้อมูลของผู้ประกอบการแต่ละบริษัท ที่จะทราบว่า ลูกค้าตัวเองมีใครได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่ แต่ประเมินว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ทำให้สมาคมต้องหารือกันเป็นทางการ เพราะอยู่วิสัยที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละรายบริหารจัดการเองได้ และอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้
เสนอปรับนิยาม “ไซเบอร์” ครอบคลุมทุกมิติ
ขณะที่วานนี้ (15พ.ค.)ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ได้รับทราบรายงานผลการศึกษา และข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ด้านสื่อ สารมวลชน ซึ่งมีสาระสำคัญในการวางมาตรการรับมือและป้องกันระบบเครือข่าย คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และการสื่อสารโทรคมนาคม
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน บอกว่า กรรมาธิการฯมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว ตั้งแต่นิยามคำว่า ไซเบอร์ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ครอบคลุมทุกมิติ จากเดิมเฉพาะภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
พร้อมปรับให้นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช.แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อตั้ง กปช.ชั่วคราว ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมาย
รวมทั้งเสนอให้ปรับ กปช. จากร่างเดิมเป็นองค์กรมหาชน ไปเป็นหน่วยงานระดับกรมแทน โดยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ขณะที่ กปช.จะมีอำนาจเข้าไปดูข้อมูลทั้งของภาครัฐ และเอกชน และสั่งระงับยับยั้งได้ ตามคำสั่งศาล