ความคืบหน้ากรณีที่นายวีระพงษ์ บุญโญภาส ประธานคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แถลงว่า สคบ.มีมติให้บริษัทนำเข้ากระทะโคเรียคิง หยุดโฆษณาเกินจริง พร้อมแก้ไขคำโฆษณา 3 ประเด็น คือ การโฆษณาราคาสูงเกินจริง ความลื่น 300% และการเคลือบกระทะ 8 ชั้น ส่วนผลตรวจจาก 3 ห้องแล็ปพิสูจน์วัสดุกระทะยังไม่ได้ข้อสรุป
วันนี้ (18 พ.ค.2560) นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีกระทะโคเรียคิงว่า กรมศุลกากร ไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าแท้จริงได้ เนื่องจาก ถือเป็นความลับทางการค้า และเจ้าหน้าที่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่พร้อมให้ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากทำหนังสือสอบถามมาอย่างเป็นทางการและเบื้องต้น ไม่พบความผิดปกติในกระบวนการนำเข้าแต่อย่างใด โดยมีการนำเข้ากระทะมาจากประเทศเกาหลีใต้จริง ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า
ผู้บริโภคสอบถาม มพบ.ช่วยฟ้องคดี
ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือมพบ. บอกว่า หลังจากทางมูลนิธิ พื่อผู้บริโภค ประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนให้กับผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะโคเรียคิง พบว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีผู้บริโภค สอบถามเข้ามาหลายรายทางแล้ว และได้แนะนำว่าให้ส่งหลักฐานต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน สำเนาบัตรเครดิต สำเนาบัตรประชาชน โดยผ่านช่องทางไปรษณีย์ และทางอีเมล์ และทางเฟชบุ๊ก หรือสอบถามที่หมายเลข02-248-3737 ให้ส่งเอกสารหลักฐานภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้
จากการโทรเข้ามาสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่าเสียความรู้สึกที่ซื้อสินค้าในราคาแพงเกินจริง และได้สินค้าที่มีคุณภาพไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้
ผู้บริโภครายหนึ่ง ยอมรับว่าตัดสินใจซื้อกระทะ เพราะเชื่อในสรรพคุณที่ถูกระบุในโฆษณา และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อรับทราบผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่ออกมาแล้วเบื้องต้น ยอมรับว่าเสียความรู้สึก แต่อาจจะไม่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะเอกสารหลักฐานต่างๆไม่ได้เก็บไว้

รอผลการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในกระทะ
ขณะที่ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามไปยังนักวิชาการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการยืนยันว่าเพิ่งได้ตัวอย่างชิ้นส่วนกระทะโคเรียคิง เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่่านมา และกระบวนการสกัดสารต่างๆ ยังต้องใช้เวลาในการอย่างน้อย 2-3 วัน ทั้งนี้ ตามโจทย์ ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับการประสาน คือหาคำตอบในประเด็น ความเป็นพิษและสารปนเปื้อนในกระทะ ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว ยังคงต้องส่งข้อมูลให้กับทาง สคบ.เป็นผู้นำไปเปิดเผย ร่วมกับผลการตรวจสอบของทางศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ที่ตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความร้อนของกระทะว่ารองรับอุณหภูมิถึง 400 องศาเซลเซียสหรือไม่