วันนี้ (28 พ.ค.2560) อุทยานแห่งชาติภูพาน จ.สกลนคร เปิดภาพของเจ้าหน้าที่ในการดูแลช้าง "ช้างต้น" ช้างสำคัญประจำพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9
โดยช้างสำคัญที่ย้ายมายืนโรง ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ มีจำนวนทั้งสิ้น 4 ช้าง เป็นช้างพัง (ตัวเมีย) หมดทั้งสิ้น เพราะหลังจากเข้าพระราชพิธีสมโภชแล้วจะไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ ตามขัตติยราชประเพณีดั้งเดิมของไทย ซึ่งช้างหลวง ที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ประกอบด้วย
1. พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิต อัฏฐทิศพงศ์กมลาสน์ อรรคราชทิพยพาหน ถกลกิตติคุณกำจร อมรสารเลิศฟ้า ฯ
2. พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดี โรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์ อัฐทิศพิศาล พิเสฐธารธรณี พิทักษ์ คุณารักษ กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้าฯ
3.พระเทพวัชระกิริณี ดามพหัสดี พิษณุพงศ์ โสตธำรงวิสุทธิลักษณ์ อำนรรฆคุณสปสกนธ์ วิมลสารโสภิต วิบุลกิตติเลิศฟ้าฯ
4. พังมด ( ยังไม่ได้ขึ้นระวาง)
ส่วนการดูแลนั้นจะเป็นไปตามตารางที่ค่อนข้าง จะเป็นกิจวัตรประจำที่เหมือนกันทุกวัน ก็คือตอนเช้ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ควาญจะนำช้างออกจากโรงช้างไปฝึกเข้าแถว ฝึกยืนนิ่งๆ นั่งนิ่งๆ หมอบนิ่งๆ ฝึกทำความเคารพโดยการยกงวงขึ้นจบ ฝึกรับของจากพระหัตถ์
จากนั้นประมาณ 8.00น. ก็จะปล่อยเข้าป่า โดยจะปล่อยโซ่ยาว 50 เมตรเพื่อให้เดินไปหากินในป่าได้ กระทั่งเวลา 14.30 น.ก็นำออกจากป่า พาไปเล่นน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วนำไปอาบน้ำหน้าโรงเรือน
ในส่วนของการอาบน้ำถ้าเป็นของโบราณ เวลาอาบน้ำจะใช้มะขามเปียกถูแทนสบู่ แต่ตอนนี้ใช่สบู่เหลวเด็กอาบแทน เพื่อจะได้ไม่กัดผิวหนังของช้าง จากนั้นอาบน้ำเสร็จก็พาเข้าโรงเรือน ทอดหญ้าให้น้ำ เป็นอันจบกิจวัตร
"เวลาปล่อยท่านไปหาอาหาร ควาญช้างต้องอยู่บริเวณนั้น ไม่ใกล้เกินไปเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่าน โดยพระวิมลฯจะเป็นหัวหน้า เมื่อถึงเวลากลับสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง หากท่านยังไม่เดินออกมาต้องไปตามท่าน โดยต้องกราบท่านก่อนแล้วถึงเรียนเชิญท่านกลับ ท่านถึงจะยอมกลับโดยดี"ควาญช้าง บอกถึงกิจวัตรในการดูแลช้างต้น