ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมสุขภาพจิต เตือนปล่อยเด็กเล่นแท็บเล็ต เสี่ยง "ไฮเปอร์เทียม"

สังคม
29 พ.ค. 60
10:54
1,761
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิต เตือนปล่อยเด็กเล่นแท็บเล็ต เสี่ยง "ไฮเปอร์เทียม"
กรมสุขภาพจิต ระบุเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เป็นโรคไฮเปอร์เทียมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กเล่นแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อให้เด็กไม่ซน

วันนี้ (29 พ.ค.2560) นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นในเด็กจะแสดงอาการหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น มักนิยมเรียกว่าโรคไฮเปอร์ โดยเด็กจะวอกแวก ทำการบ้านไม่ละเอียด หรือควบถ้วน ทำอุปกรณ์การเรียนหายประจำ และใจร้อน วู่วาม

อาการดังกล่าวเกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดว่า เป็นเด็กดื้อ หรือไม่มีความรับผิดชอบ โดยจะพบความผิดปกติชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ชั้นประถมศีกษา ดังนั้น หากผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม และอาจส่งผลถึงอนาคต เช่น ความเสี่ยงติดสารเสพติด ก่ออาชญากรรม ส่วนเด็กที่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ และมีอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เมื่อได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ประมาณ 2 ใน 3 อาการจะหาย หรือดีขึ้น

ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าเด็กเล็กที่ปกติกลายเป็นโรคไฮเปอร์เทียมมากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ตามใจ ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อให้เด็กนิ่งและไม่ซน แต่ในวงการจิตแพทย์ พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาที จะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอไม่เป็น และมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกัน หรือคนอื่น ทั้งนี้ แนะนำให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน แทนการเล่นเกมจากอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้อาการค่อยๆ ดีขึ้น รวมทั้งมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน

กรมสุขภาพจิต เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มเด็กนักเรียน อายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาผลการเรียนไม่ดี เรียนไม่ทันเพื่อนนั้น น่าจะมาจากอีก 3 โรคทางจิตเวชแอบแฝงที่พบบ่อย คือ 1.ออทิสติก 2.แอลดี หรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ และสติปัญญาบกพร่อง โดยเด็กที่เป็นออทิสติกและสติปัญญาบกพร่องจะตรวจพบพัฒนาการที่ผิดปกติได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนเด็กที่มีลักษณะของโรคแอลดีนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องไอคิว แต่มีความผิดปกติทางการอ่านเขียนคำนวณต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกัน 2 ชั้นปี ซึ่งควรได้รับการติดตามช่วยเหลือ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง