วันนี้ (6 มิ.ย.2560)นายมาโนช วงษ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตว์แพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการติดตั้งสัญญาณดาวเทียมบนตัวพะยูน 3 ตัว เริ่มวันที่ 6 เม.ย.นี้ ชื่อพะยูน"จักรี" และวันที 22 เม.ย.นี้อีก 2 ตัวชื่อพะยูน"เอิร์ท"และพะยูน"คุ้มครอง" เพื่อติดตามและศึกษาพฤติกรรมพะยูนที่หากินในเขตพื้นที่จ.ตรัง และใช้ในการวางแผนพื้นที่คุ้มครองพะยูน
ล่าสุดปรากฎว่าอุปกรณ์ดาวเทียมได้หลุดออกจากตัวพะยูนโดยอัตโนมัติ จำนวน 2 ตัว คือ พะยูน "คุ้มครอง" มีชาวประมงพบดาวเทียมลอยอยู่ในทะเล แถวป้อมบางสัก อ.กันตัง ส่วนสัญญาณของพะยูน"จักรี" สัญญาณดาวเทียมไม่ส่งข้อมูลแล้ว แสดงว่ามีคนพบและนำไปเก็บไว้ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ กำลังค้นหาอยู่ เช่นเดียวกับสัญญาณอีก 1 ตัวคือ พะยูน"เอิร์ท"คาดว่ายังอยู่แถวบริเวณหาดปากเมง ทั้งนี้ขอแจ้งให้ประชาชนพบเห็นอุปกรณ์งานวิจัย ขอให้แจ้งได้เบอร์ 075-203308 อย่าเก็บไว้ส่วนตัวหรือทำลายสมบัติของทางราชการ
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ยืนยันว่า การหลุดของอุปกรณ์ดาวเทียมพะยูนเป็นอิสระ จากวัสดุน๊อตเฉพาะของงานวิจัยแสดงว่า ผลสำเร็จของงานวิจัยเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ระยะเวลาประมาณ 55-60 วัน ดาวเทียมก็หลุดออกจากตัวพะยูน ทำให้ประเทศไทยได้ข้อมูลพฤติกรรมของพะยูน ซึ่งเป็นตัวแทนประชาการของพะยูนบริเวณหาดหยงหลิง และหาดปากเมง
ตามหลักการสำรวจประชากรสัตว์ป่าหากใช้ตัวแทนพะยูนสำรวจประชากรพะยูนจำนวน 5 % จากที่มีจำนวน 162 ตัว ต้องติดตั้งอุปกรณ์พะยูนจำนวน 8-10 ตัว จึงทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนประชากรที่เหมาะสมในการจัดการพะยูน และในการนำร่องเพื่อกำหนดเขตอนุรักษ์พะยูนต่อไป
ทั้งนี้ นายมาโนช ยังบอกถึงความเห็นต่างของกลุ่มอื่นๆ ว่าหากเราไม่ใช้ข้อมูลงานวิทยาศาสตร์มาบริหารจัดการพะยูนแล้วประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่จ ตรังที่มีพะยูนมากที่สุดกับการอนุรักษ์พะยูนสามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมาตรฐานอย่างไร โดยยังยืนยันว่าวิธีการและอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ในการทำงานวิจัยโดยคนไทยที่คิดค้นขึ้นมามีความปลอดภัย และได้มาตรฐานสากลระดับโลกอย่างแน่นอน