ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนกระบวนการ PNPCA "เขื่อนปากแบง"

สิ่งแวดล้อม
8 มิ.ย. 60
17:08
729
Logo Thai PBS
ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนกระบวนการ PNPCA  "เขื่อนปากแบง"
กลุ่มรักษ์เชียงของ-เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร้องศาลปกครอง สั่งเพิกถอนการรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ของสปป.ลาว พร้อมให้กฟผ.ชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจนกว่าจะมั่นใจโครงการไม่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน

วันนี้(8 มิ.ย.2560) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พร้อมด้วย น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนการดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 หรือ PNPCA  และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบง ในประเทศไทย และความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC

ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องร้องหน่อยงานรัฐไทย ได้แก่ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และเอ็มอาร์ซี กรณีที่ละเว้นการทำหน้าที่ในการแจ้งข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การปกป้องผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตไฟฟ้าปากแบงขนาด 912 เมกะวัตต์ที่อยู่นอกประเทศไทย  ซึ่งหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างกลไก และแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ข้อมูลที่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งแม่น้ำโขงของไทย นำมาจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 โดยจะครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ยังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนหลายประเด็น จากรายงานของ บริษัท ต้าถัง เอกชนจีน ที่ส่งรายงานให้กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC จำนวน 20 เล่ม

 

 

โดยพบว่าข้อมูลในรายงานมีข้อบกพร่องและผิดจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะ ข้อมูลด้านการประมงและพันธุ์ปลา ที่พบว่ายังอ้างอิ่งข้อมูลเก่า และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบ มีน้อยกว่าข้อมูลของ MRC ที่เคยศึกษาไว้ รวมถึงกรณีทางปลาผ่าน หรือ Fish passage ที่อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลาได้จริง

นายนิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความเห็น หรือ PNPCA ที่จัดขึ้นในไทยทั้ง 4 ครั้ง ประชาชนไทยได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบกับคนที่อยู่ท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนปากแบง และเขื่อนไซยะบุรี ในแม่น้ำโขงตอนล่าง เนื่องจากหากมีการกั้นลำน้ำโขงและมีการยกระดับน้ำขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร -1 เมตร ก็จะทำให้น้ำท่วมมาถึงฝั่งไทยที่ จ.เชียงราย แน่นอน เหมือนกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กรณีเขื่อนในประเทศจีนมีการปล่อยน้ำทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ทำลายวิถีชีวิตของเกษตรริมโขง

กลุ่มรักษ์เชียงของ ยังได้เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ยุติการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนปากเพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จเสียก่อน

 

โครงการเขื่อนปากแบง ที่กั้นแม่น้ำโขงในลาวอยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 92 กิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัทต้าถัง ของจีนเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยจะผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ส่งขายกลับมาให้กับไทย

ก่อนหน้านี้กลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องร้องหน่ยงานรัฐไทย 4 แก่งและ กฟผ. ในกรณีโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขนาด 1,270 เมกะวัตต์ ในคำฟ้องเดียวกันเมื่อปี 2555 ต่อ ศาลปกครองกลาง กรณีโครงการไม่มีการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แต่ศาลไม่รับฟ้อง ต่อมาปี2557 ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดี โดยระบุว่า เขื่อนไซยะบุรีอาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งชุมชนในใครมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแม่น้ำโขง

การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้จะเป็นคดีที่ 2 ที่เป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการที่อยู่นอกประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง