ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนร.ยังไม่เคาะ บ.อัคราฯ เดินหน้าเหมืองทองคำ

การเมือง
12 มิ.ย. 60
14:51
702
Logo Thai PBS
คนร.ยังไม่เคาะ บ.อัคราฯ เดินหน้าเหมืองทองคำ
คนร.ยังไม่เคาะให้ บ.อัคราฯ เดินหน้าเหมืองทองคำ ยึด ม.44 หลัง บ.ขอขนแร่ที่เหลือ 1.6 ตัน ออกนอกพื้นที่ ส่วนนโยบายเหมืองทอง ภาพรวมยังอีกยาว เพิ่งเริ่มตั้งอนุฯ หลายชุดแบ่งหน้าที่ ด้านคณะเจรจา บ.คิงส์เกต ถกนัดแรก 3 ก.ค.2560

วันนี้ (12 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นนัดแรก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงกรณี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำชาตรี ใน จ.พิจิตร, จ.เพชรบูรณ์, จ.พิษณุโลก ขอประกอบกิจการต่อไป หลังจาก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา ม.44 สั่งให้ระงับการประกอบโลหะกรรม และ มีนโยบายยุติเหมืองแร่ทองคำทุกโครงการ ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 25559 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ยังให้ยึดตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ตาม ม.44

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า แนวทางการทำเหมืองแร่ทองคำ ตามกฎหมายใหม่ ให้เป็นเรื่องการพิจารณาของ คนร. ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเดินหน้าหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดต่างๆ ประกอบ

นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรณี ระบุว่า คนร. หารือถึงการทำแผนแม่บทนโยบายยุทธศาสตร์แร่ ตาม กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ซึ่งอำนาจในอดีตทางกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเพียงกระทรวงเดียว แต่ปัจจุบันการทำเหมืองแร่มีความซับซ้อนมากขึ้น เกี่ยวพันถึงเรื่องเศรษฐกิจ,สิ่งแวดล้อม, ชุมชน ซึ่ง คนร.อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการด้านแผนแม่บทจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการแร่ต่าง ๆ เช่น หินอุตสาหกรรมก่อสร้าง, หินอุตสาหกรรมปูน, แร่โปรแตช, ควอตซ์ ที่จะตั้งอนุกรรมการดูแลแร่เหล่านี้

ส่วนนโยบายเหมืองแร่ทองคำ ได้สรุปบทเรียนภาพรวมในอดีตที่จะแก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า นโยบายแร่ทองคำ จะมี 4 กรอบ ได้แก่ การกำหนดยุทธศาสตร์, การกำกับดูแล, การให้ผลประโยชน์กับท้องถิ่น

ส่วนกรณี การรายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กรณีการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัคราฯ ขณะนี้ มีรายงานผลสรุปด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยสรุปว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากฐานข้อมูลแต่ละหน่วยงาน จัดทำแตกต่างกัน และไม่สามารถมาเป็นข้อสรุป ปัญหาเรื่องสารโลหะหนักนั้น พบว่ามีสารโลหะหนัก แต่ผลสรุปสามารถชี้ชัดได้ว่า เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือไม่

ส่วนรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ อธิบดี กพร. ระบุว่า ยังรอคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลักในการสรุปผลการตรวจสอบ ส่วนการตั้งคณะผู้แทนเจรจากับ บริษัทคิงส์เกตฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บ.อัคราฯ จะเริ่มประชุมคณะทำงานเจรจานัดแรก มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน วันที่ 3 ก.ค.3560 ก่อนถึงขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อตามตำแหน่งของคณะกรรมการ คนร. มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน ส่วนรองประธานประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรม, มหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนกรรมการโดยตำาแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,มหาดไทย, สาธารณสุข, อุตสาหกรรม, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, เลขาธิการสำานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมศิลปากร, ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กรรมการผู้ทรงคณวุฒิ มีจำนวนไม่เกิน 6 คน ผู้แทนองค์กรปกครองสวนทองถิ่น จำนวน 1 คน กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอชื่อ, ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคณภาพสิ่งแวดล้อม หรือตามกฎหมายอื่น จำนวน 1 คน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เสนอชื่อ, ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ด้านธรณีวิทยา ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมศาสตร์ จำนวนด้านละ 1 คน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้เสนอชื่อ ให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

ให้รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีมอบหมาย เป็นกรรมการและ ผู้ช่วยเลขานุการ และรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการร่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง