วันนี้ (12 มิ.ย.2560) คณะกรรมการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดแถลงข่าวชี้แจงการปรับแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และประเด็นที่ยังมีความกังวลของภาคประชาชน หลังที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงความจำเป็นที่ต้องปรับแก้ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมใช้มานานกว่า 15 ปี และพบข้อขัดข้องหลายอย่าง
จึงต้องปรับแก้ให้เกิดความทันสมัย และสอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้ ม.44 เพื่อแก้ไขการเบิกจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมยืนยันว่า สิทธิประโยชน์ของประชาชนเท่าเดิม และจะเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนกรอบรายละเอียด 14 ประเด็น ที่ยังมีความกังวลใจจากภาคประชาชน เช่น การร่วมจ่ายค่าบริการ ยืนยันไม่มีการปรับแก้ เช่นเดียวกับ การจัดซื้อร่วมยา หรือ เวชภัณฑ์ หรือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เรื่องนี้กฎหมายเดิม ไม่ได้กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ซื้อ แต่ที่ผ่านมา สปสช.ดำเนินการ ซึ่งยอมรับว่าเกิดประโยชน์จริง แต่ถูกทักท้วงว่าไม่สามารถทำได้ จึงต้องแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับประเทศ จึงตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติขึ้นมา
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์วีระศักดิ์ พุทธาศรี คณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่างฯ บอกว่า กรณีที่มีภาคประชาชนเดินออกนอกห้องที่จัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น เข้าใจว่าภาคประชาชนไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการทำประชาพิจารณ์ เพียงแต่อาจจะไม่เข้าใจรายละเอียด ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้บันทึกการแสดงออกดังกล่าวไว้เป็นรายละเอียด
โดยยืนยันว่า เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ผ่านการแสดงความคิดเห็น 3 รูปแบบ ได้แก่ ทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th จนถึงวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะของเครือข่ายทุกภาคส่วนวันที่ 20-21 มิถุนายนนี้ และเวทีประชาพิจารณ์ประชาชน 4 ภาค ซึ่งยังเหลืออีก 2 เวที ที่ จังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพมหานครในวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ ตามลำดับ จากนั้นจะรวมรวบเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 17 ก.ค.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ถึงนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ยุติการแก้ไขร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพเนื่องจากอาจจะขัดมาตรา 77ของรัฐธรรมนูญ เพราะแอบยกร่างแก้ไขกฎหมายใน 14 ประเด็นเสร็จก่อน ที่จะมีการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสผิดขั้นตอนกฎหมาย และเนื้อหาการแก้ไขกฎหมายที่ซ่อนแร้น แอบแฝง ซึ่งจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคม
และขอให้แก้ไขกฎหมายให้อยู่ในกรอบ 6 ข้อของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2559 ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และสุดท้ายควรนำข้อเสนอปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคณะกรรมการวิชาการชุดศาสตราจารย์อัมมาร์ สยามวาลา และคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นเนื้อหาประเด็นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อไป