จากเหตุการณ์สูญเสียบุคลากรสำคัญในพื้นที่ปลายด้ามขวาน "พ.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์" อายุ 56 ปี ครูใหญ่ รร.ตชด.บ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 พร้อมด้วยลูกชาย "ด.ต.โดม ช่วยเทวฤทธิ์" อายุ 35 ปี "คุรุทายาท" ที่สมัครใจทำงานเป็น ครู ตชด.ตามรอยผู้เป็นพ่อ
ทั้งคู่เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ขณะเดินทางออกโรงเรียน ตชด.บ้านตืองอฯ ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ไม่เคยคิดว่าจะย้าย ถ้าเราหนี เราไม่อยู่แล้วใครจะอยู่ เข้าใจว่างานเสี่ยง แต่เด็กและเยาวชน ประชาชนในพื้นที่เขาเสี่ยงและยากลำบากยิ่งกว่าเรา ที่สำคัญงานของพระองค์ท่านฯ ใครจะทำ ใครจะสานต่อ ฉะนั้นเราจะปล่อยให้เทียนดับไม่ได้ แสงสว่างที่ริบหรี่ก็ยังดีกว่ามืดมน อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่หลงทางไปไกลนัก
พ.ต.ท.สุวิทย์ เคยให้สัมภาษณ์ในบทความจากเว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในฐานะ "ครู" ผู้สมควรได้รับพระราชทาน "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี" และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ "ครูยิ่งคุณ" ประจำปี 2558 และเคยได้รับ "รางวัลผู้ปิดทองหลังพระ" ในปี 2560
ด้วยเพราะเป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียน ตชด. ในพื้นที่สีแดงของ จ.พัทลุง ในวัยเด็กได้เห็นความยากลำบากของครูที่ทุ่มเท เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทำให้ "ครูวิทย์" ซึ่งเป็นคำเรียกขานของเด็ก ๆ และชาวบ้าน ตัดสินใจทิ้งชีวิตโลดโผนในวัยหนุ่ม มุ่งหน้าเข้ามายังชุมชนกลางป่าที่แทบไม่มีใครรู้ภาษาไทย เพื่อสร้างอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าฯ
"ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่เด็กว่าสักวันจะเป็นครู อยากช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ ๆ ทุรกันดาร จึงเข้ามาเป็นครูโดยได้สิทธิ์สอบบรรจุครูคุรุทายาท เมื่อได้จึงเลือกที่จะทำงานในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส ที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากมา แต่ผมกลับมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำงานสนองงานพระราชดำริของทุกพระองค์ได้อย่างเต็มที่"
ภาพ : เว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ภาษามลายูคำแรก "วาซูเด๊าะ ตูเบ๊ะ ไม๊ลูวา" ครูหนุ่มจากพัทลุง รู้จักและนำมาใช้เมื่อมาเริ่มต้นสอนหนังสือในชั้นอนุบาล 3 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ ชุมชนกลางป่าลึกของเทือกเขาคีรีบรรพต เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ทำการบ้าน ซึ่งหมายความว่า "รีบทำให้เสร็จ จะได้ออกไปเล่นข้างนอก"
การเริ่มต้นทำหน้าที่ "ครู" ในพื้นที่ ๆ แทบไม่มีใครใช้ภาษาไทย ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคใหญ่มากกว่าการสอน เพราะถ้าไม่มีคนเรียน ครูก็ไม่รู้จะสอนใคร ดังนั้นสิ่งแรกที่ "ครูวิทย์" คิดในตอนนั้น คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของชุมชน
โชคดีที่ผมเป็นมุสลิม ก็ใช้หลักทางศาสนาโดยไปมัสยิดบ่อยขึ้น ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเจ็บป่วยไม่สบายก็ไปเยี่ยม บอกกับชาวบ้านตลอดว่าเรามาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและของทุกคนในชุมชน เอาเรื่องของอาชีพเข้าไปจับ เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง แนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ ใช้กระบวนการเหล่านี้มาสนับสนุนแทนที่จะไปพูดเรื่องการศึกษาอย่างเดียว
เข้าถึงหัวใจของคนในชุมชน โดยช่วยเหลือเขาทุกด้าน ทุกเรื่องในชุมชน ทุกเรื่องในวิถีชีวิตของเขา จนชาวบ้านพูดต่อ ๆ กันว่าคิดอะไรไม่ออกไปบอกครูวิทย์ ตรงนี้มันได้กลายเป็นความสุขของเรา
ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจในการเข้าถึงชุมชน ทำให้เด็กนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย แต่ "ครูวิทย์" ก็ยังไม่หยุดการทำงานกับชุมชน
หลายโครงการต้องควักเงินเดือนของตัวเองมาทำอย่าง "รับขวัญน้อง" ที่ร่วมกับภรรยาซื้อของไปเยี่ยมเด็กแรกเกิดในชุมชน หรือการจัดทริปพา "แม่บ้าน" ในชุมชนออกไปเปิดโลกทรรศน์ภายนอก ด้วยการพาไปเที่ยวบ้านที่พัทลุง ที่นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ฉันท์ญาติพี่น้องให้เกิดขึ้นระหว่างคนในชุมชนกับครูวิทย์แล้ว ยังทำให้เกิดการยอมรับสังคมภายนอกอีกด้วย
ภาพ : เว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
นอกจากทำงานอย่างเข้าถึงและเข้าใจชุมชนอย่างสม่ำเสมอ การพัฒนาการศึกษาก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ "ครูวิทย์" ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้
กลายมาเป็นเทคนิคการเรียนรู้ภาษาไทยผ่าน "บัตรคำ" ใช้กระดาษเปล่าแผ่นเล็กๆ คล้องคอเด็ก ๆ กลับไปที่บ้านเพื่อฝึกเขียนคำศัพท์ มีการสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัลต่าง ๆ ยิ่งเด็กคนไหนให้พ่อและแม่เขียนชื่อกำกับมาด้วยก็จะยิ่งได้คะแนนเพิ่ม
จากบัตรคำได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาอีกขั้นสู่ "ธนาคารคุณธรรม" โดยให้เด็ก ๆ เขียนเล่าเรื่องถึงความดีที่ตัวเองได้ทำมาในแต่ละวันที่บ้าน ที่ช่วยทำให้เด็กฝึกความคิด คิดถึงในสิ่งที่ดี และยังได้ฝึกเขียนภาษาไทย ด้วยการเขียนถึงความดี ที่ทำให้ครอบครัวและผู้ปกครองได้เรียนรู้ภาษาไทยไปพร้อม ๆ กับลูกหลานของตัวเอง
ชีวิตเราไม่ได้มีค่าอะไรในสังคมที่รุ่งเรือง แต่ภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาส
เป็นเวลานับ 30 ปี จากวันแรกที่ "ครูวิทย์" ตัดสินใจเลือกเป็นแสงเทียนเล่มน้อยในพื้นที่ปลายด้ามขวาน จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
อ่านข่าว : อาลัย "พ่อ-ลูก" ครู ตชด.เสียชีวิตเหตุลอบวางระเบิด