9 เม.ย.2550 เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุลอบวางระเบิดตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน ตู้โทรศัพท์เสียหายแต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ ผลตรวจสอบจากพยานหลักฐาน ตำรวจเชื่อว่าผู้ก่อเหตุ มีเจตนาข่มขู่ มากกว่าจะประทุษร้ายต่อชีวิต หรือประสงค์ให้เกิดความเสียหายรุนแรง
6 พ.ค.2550 ประมาณช่วงเที่ยงคืน พบวัตถุระเบิดใส่ถุงพลาสติกซุกไว้ข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะ ปากซอยราชวิถี 24 เป็นระเบิดชนิดแรงดันต่ำ จุดชนวนด้วยการตั้งเวลา ไม่มีสะเก็ดระเบิด ไม่มีอำนาจทำลายล้างที่เกิดเหตุพบถ่านไฟฉายยี่ห้อเนชั่นแนลสีดำ ขนาด 1.5 โวลต์ จำนวน 6 ก้อน แผงวงจร ตัวไอซี คอยล์ไฟฟ้า แต่ไม่พบชิ้นส่วนนาฬิกา
30 ก.ย.2550 เวลา 19.00 น. เกิดระเบิดในตู้โทรศัพท์สาธารณะข้างกำแพงกองทัพบก ที่เกิดเหตุพบกล่องกระดาษวางอยู่ 1 ใบ และแกลลอนน้ำมันพลาสติกใสขนาด 5 ลิตร อีก 1 ใบ จุดนี้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) 2 นาย ได้รับบาดเจ็บ ขณะตรวจสอบแกลลอนน้ำมัน และยกกล่องกระดาษและเกิดระเบิดขึ้น
5 เม.ย.2560 เวลา 20.08 น. ระเบิดหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า ถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ตรวจพบเป็นระเบิดปิงปอง พนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพมหานคร ได้รับบาดเจ็บ 2 คน
15 พ.ค.2560 เวลา 20.15 น. ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน จุดนี้เจ้าหน้าที่อีโอดี พบชิ้นส่วนระเบิดเป็นท่อพีวีซี ไอซีไทม์เมอร์ และดินดำ สันนิษฐานว่าเป็นระเบิดชนิดไปป์บอมบ์
22 พ.ค.2560 เวลา 10.40 น. เกิดเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ขณะที่ประชาชนมารับบริการ โดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่ ห้องวงษ์สุวรรณซึ่งเป็นจุดรอรับยา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 24 คน เจ้าหน้าที่อีโอดี ตรวจที่เกิดเหตุพบชิ้นส่วนระเบิดจำนวนมาก พร้อมสรุปชนิดระเบิดเป็นไปป์บอมบ์