ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พ.ร.ก.คนต่างด้าว กระทบ "ก่อสร้าง-เกษตร-บริการ"

เศรษฐกิจ
3 ก.ค. 60
10:06
533
Logo Thai PBS
พ.ร.ก.คนต่างด้าว กระทบ "ก่อสร้าง-เกษตร-บริการ"
ผู้ประกอบการ ภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตร ภาคการบริการ และ ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ต่างด้าว ขอภาครัฐกำหนดช่วงเวลา "ผ่อนปรน" การบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว หลังแรงงานต่างชาติทยอยเดินทางกลับประเทศ

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างค่อนข้างมาก เพราะร้อยละ 90 ของแรงงานที่ใช้เป็นแรงงานต่างด้าว โดยในภาวะที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ก็จะทำให้ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น และอาจจะกระทบหนักโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ผูกเหล็ก เทปูน

นายสังวรณ์ ยังระบุว่า ที่ผ่านมาการขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวมีหลายขั้นตอน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการบางราย ไม่นำแรงงานไปขึ้นทะเบียน อีกทั้งมองว่าเป็นต้นทุนเนื่องจากแรงงานต่างด้าวภาคก่อสร้างมักเปลี่ยนบ่อย

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า แม้ พ.ร.ก. ดังกล่าวจะบังคับใช้แล้ว แต่เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเข้มงวด การดำเนินการรัฐควรกำหนดช่วงเวลาผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร คาดว่า พ.ร.ก. ต่างด้าว ฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม เกษตร ภาคการบริการ เช่น โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวข้ามเขต เนื่องจากภาคก่อสร้างยังมีความแตกต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการย้ายไซต์งานก่อสร้างไปตามโครงการต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมา ภาครัฐได้ผ่อนคลายค่าใช้จ่ายการแจ้งเคลื่อนย้ายแรงงานไซต์ต่อไซต์แล้วก็ตาม ?แต่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงอยากเสนอให้รัฐเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการ แจ้งย้ายแรงงานข้ามเขตผ่านระบบออนไลน์ได้ อีกทั้งเห็นว่ากฎหมายใหม่ควรวางกฎเกณฑ์ ต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแรงงานต่างด้าวอาจเดินทางกลับประเทศ กระทบผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยไม่ทำงานประเภทนี้

ด้านนายสุรวุฒิ วงษ์สำราญ กรรมการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว ฝ่ายโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนส่ง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการเล็กๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ต้องเดือดร้อนเพราะขาดแคลนแรงงาน และมองว่าการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้เอื้อประโยชน์กับบริษัทจัดหางานโดยตรง และอาจเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่บางฝ่ายทุจริตเรียกรับส่วยได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง